พลิกประวัติ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน อดีตขาใหญ่แห่งเมืองเบียร์

Hertha BSC Berlin

สโมสรกีฬาแฮร์ธ่าเบอร์ลิน (Hertha, Berliner Sport-Club e.V.) หรือที่รู้จักกันในนาม แฮร์ธ่า เบเอ็สเซ หรือเรียกกันสั้นๆว่า แฮร์ธ่า ในขณะที่บ้านเราก็จะน่าคุ้นหูกันในชื่อ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน เป็นทีมฟุตบอลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน ย่านชาร์ลอตเทนแบร์ก ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน สโมสรก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1892 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลเยอรมันที่ เมืองไลป์ซิก ในปี 1900 ปัจจุบันลงเล่นอยู่ใน บุนเดสลีกา หลังสามารถขยับเลื่อนชั้นขึ้นมาจากการคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 ได้เมื่อปี 2013 แฮร์ธ่า เคยเป็นแชมป์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ในปี 1930 และ 1931 จนกระทั่งปี 1963 ก็ได้ย้ายเข้ามาปักหลังอยู่ในสนามเหย้า โอลิมเปียสตาดิโอน ที่ปัจจุบันสามารถรองรับผู้ชมได้ 74,475 คน นอกจากนี้แล้วพวกเขายังมีอีกหนึ่งฉายาว่า Die Alte Dame หรือ หญิงชรา

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1892 – ทีมเริ่มเปิดตัวขึ้นภายใต้ชื่อ BFC Hertha 92 โดยมีที่มาจากชื่อของเรือจักรไอน้ำสีขาวลายพาดฟ้าที่ 1 ใน 4 ของสมาชิกผู้ก่อตั้งเคยโดยสารท่องเที่ยวไปกับพ่อของเขา โดยคำว่า Hertha ก็คืออีกชื่อหนึ่งของ Nerthus เทพีแห่งการเพาะปลูกในตำนานความเชื่อของเยอรมัน
1905 – หลังจากโชว์ฟอร์มได้อย่างคงเส้นคงวา ทีมก็สามารถคว้าแชมป์รายการ เบอร์ลิน แชมเปี้ยนชิพ
1910 – ทีมสร้างความฮือฮาด้วยการลงเตะเกมกระชับมิตรก่อนจะเอาชนะ เซาธ์เอนด์ ยูไนเต็ด ซึ่งภายในช่วงเวลานั้นสโมสรต่างๆของ อังกฤษ ที่เป็นต้นตำรับเกมลูกหนังกำลังครองอำนาจในกีฬาประเภทนี้อยู่
1920 – อย่างไรก็ตามผลงานอันโดดเด่นในสนามก็ไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกับสถานะทางบัญชี จนทำให้ทีมที่กำลังเป็นขวัญใจของชนชั้นแรงงานตัดสินใจรวมตัวกับ Berliner Sport-Club สโมสรที่เพียบพร้อมกว่าจนกลายมาเป็น Hertha Berliner Sport-Club ในที่สุด
1930 – หลังจากกลายเป็นทีมระดับหัวแถวใน โอเบอร์ลีกา เบอร์ลิน-บรันเดนบูร์ก ลีกสูงสุดของประเทศประจำภูมิภาค และได้ผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่สุดของประเทศในช่วงเวลานั้นติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 1926 ในที่สุดพวกเขาก็มาสมหวังด้วยการคว้าแชมป์ใหญ่ครั้งแรกได้ภายในปีนั้น
1931 – แฮร์ธ่า สร้างสถิติเข้าชิง เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และสามารถคว้าแชมป์ได้ 2 ปีซ้อน
1933 – จากการครองอำนาจของจักรวรรดินาซีทำให้มีการรื้อระบบโครงสร้างเกมฟุตบอลภายในประเทศ โดยที่ แฮร์ธ่า ได้ไปลงเตะอยู่ใน เกาลีกา เบอร์ลิน-บรันเดนบูร์ก ลีกสูงสุดประจำภูมิภาครูปแบบใหม่
1944 – ตลอดหลายซีซั่นที่ผ่านมาทีมคว้าแชมป์ เกาลีกา ได้ทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 1935, 1937 และครั้งสุดท้ายภายในปีนั้น แต่ไม่เคยมีซักครั้งที่ทีมจะไปต่อได้ไกลจนสามารถสร้างชื่อในระดับประเทศได้
1945 – หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝั่งนาซี ด้วยกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้ามาควบคุมองค์กรต่างๆภายในประเทศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ทำให้ทีมพยายามรวมตัวขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ SG Gesundbrunnen และเริ่มต้นลงเตะอยู่ใน โอเบอร์ลีกา เบอร์ลิน
1949 – หลังสถานการณ์ความตึงเครียดจากภายนอกค่อยๆลดลง พวกเขาก็สามารถเรียกคืนสถานะและชื่อทีมดั้งเดิมกลับคืนมา ก่อนจะมีโอกาสหวนคืนกลับไปลงเตะอยู่ในลีกสูงสุดของประเทศอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันท่ามกลางสภาวะความกดดันระหว่างฝั่งเยอรมันตะวันตกที่มี สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ฝรั่งเศส คอยดูแลอยู่ กับ ฝ่ายเยอรมันตะวันออกที่มี สหภาพโซเวียต คอยหนุนหลังที่กำลังค่อยๆพัฒนาเข้าสู่ยุค สงครามเย็น ก็ได้ส่งผลกระทบถึงเกมลูกหนังภายในเมืองหลวงของประเทศ โดยที่ แฮร์ธ่า ถูกสั่งห้ามลงเตะกับทีมคู่แข่งจากฝั่งตะวันออกระหว่างฤดูกาล 1949-50 หลังตัดสินใจอ้าแขนรับบรรดานักเตะและสตาฟฟ์โค้ชที่พากันอพยพมาจาก เดรสด์เนอร์ เอ็สเซ สโมสรที่อยู่ใน กรุงเดรสเดน เมืองหลวงของฝั่งตะวันออก
1958 – แม้ความสัมพันธ์ระหว่าง เทนนิส โบรุสเซีย เบอร์ลิน สโมสรร่วมเมืองจะค่อยๆลดน้อยถอยลงทุกที แต่ในปีนั้นก็ดันมีโปรเจ็คท์ที่คิดจะรวมตัวกันขึ้นมา ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องล้มเลิกแผนการทิ้งไปหลังมีผลโหวตเห็นด้วยเพียงแค่ 3 จาก 266 เสียงของบรรดาสมาชิกทั้งหมด
1961 – จากจุดเริ่มต้นของ กำแพงเบอร์ลิน ที่พาดกั้นกลางเขตเมืองก็ทำให้ชีวิตแฟนบอลของ แฮร์ธ่า ในเขตฝั่งตะวันออกตกอยู่ในความยากลำบาก จากบทสัมภาษณ์ของแฟนบอลเดนตายคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในฟากฝั่งที่ถูกครอบงำโดย โซเวียต ตัวเขาและเพื่อนๆทำได้เพียงเงี่ยหูฟังเสียงที่ลอยมาจาก Stadion am Gesundbrunnen สนามเหย้าเดิมของทีมที่มีระยะห่างไม่ไกลจากผนังกำแพง และในขณะที่เสียงเชียร์ของแฟนๆในสนามดังกระหึ่มขึ้นพวกเขาก็จะคอยส่งเสียงร้องตามไปด้วย ซึ่งการกระทำเหล่านั้นก็ส่งผลให้พวกเขาถูกจับกุมโดย สตาซี ตำรวจลับของฝั่งตะวันออกหลายต่อหลายครั้ง และที่หนักสุดสำหรับเจ้าตัวก็ถึงขั้นถูกยึดพาสปอร์ตและสูญเสียงานช่างไฟไปในที่สุด
1963 – ภายในปีที่มีการสถาปนา บุนเดสลีกา ขึ้นมา แฮร์ธ่า คือทีมทีมที่อยู่ในระดับหัวแถวของ โอเบอร์ลีกา เบอร์ลิน หลังเคยคว้าแชมป์มาแล้วในปี 1957, 1961 และ 1963 โดยที่พวกเขาจบฤดูกาล 1963-64 ที่เป็นการเปิดตัวลีกสูงสุดเวอร์ชั่นปัจจุบันด้วยการรอดพ้นการตกชั้นไปแบบหวุดหวิด
1965 – แต่แล้วในซีซั่นถัดมาพวกเขาก็ถูกปรับให้ตกชั้นลงไปแต่เพียงผู้เดียวจากที่ปกติควรจะเป็น 2 ทีม หลังถูกสืบทราบว่ามีการติดสินบนบรรดานักเตะให้ย้ายเข้ามาเล่นกับทีมโดยอาศัยสถานการณ์อึมครึมภายในเมืองที่เกิดขึ้นหลังการก่อตั้ง กำแพงเบอร์ลิน เนื่องจากทาง บุนเดสลีกา ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องการเมือง ก่อนที่ SC Tasmania 1900 Berlin จะได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นมาแทน และกลายเป็นทีมที่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ถึงผลงานอันเลวร้ายที่สุดของการแข่งขันใน บุนเดสลีกา หลังสามารถเก็บได้เพียง 8 คะแนนจากการลงเตะ 34 นัดตลอดทั้งซีซั่น
1968 – หลังสามารถคว้าแชมป์ เรกิโอนาลลีกา เบอร์ลิน ได้ 3 ปีซ้อน หลังจบฤดูกาล 1967-68 พวกเขาก็สามารถฟันฝ่าไปจนสุดทางและกลับขึ้นไปสู่ลีกสูงสุดของประเทศได้สำเร็จ
1971 – แฮร์ธ่า กลับมามีส่วนพัวพันเกี่ยวกับการทุจริตอีกครั้งโดยในคราวนี้มีหลายทีมใน บุนเดสลีกา ที่ถูกตั้งข้อสงสัย และระหว่างขั้นตอนการสอบสวนพวกเขาก็ถูกตรวจพบว่ากำลังตกเป็นหนี้ที่มีมูลค่าราว 6 ล้านมาร์ค และจากผลกระทบทางบัญชีเหล่านั้นก็ส่งผลให้สโมสรต้องตัดสินใจขายสนามเหย้าเดิมทิ้งไป
1975 – ทีมทำแต้มตามหลัง โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค แชมป์ฤดูกาล 1974-75 อยู่ 6 คะแนนและคว้าสิทธิ์ไปลงเตะใน ยูฟ่า คัพ จากการเป็นทีมอันดับที่ 2
1977 – พวกเขาทะลุเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เดเอฟเบ โพคาล โดยที่เสมอ 1-1 กับ เอฟซี โคโลญจน์ หลังจบ 120 นาที ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายไป 1-0 จากการลงเตะนัดรีเพลย์ในอีก 2 วันให้หลัง
1979 – ทีมหญิงชรา ได้เข้าชิง เดเอฟเบ โพคาล เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี แต่ก็ยังคงต้องผิดหวังต่อไปเมื่อพ่ายให้กับ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ แบบฉิวเฉียด 1-0 จากประตูชัยที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนจบ 120 นาที โดยที่ในปีนั้นพวกเขายังผ่านเข้าไปจนถึงรอบตัดเชือกในรายการ ยูฟ่า คัพ โดยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ เร้ด สตาร์ เบลเกรด ที่ผ่านเข้าไปชิงกับ มึนเช่นกลัดบัค
1980 – แม้จะไปได้ไกลในบอลถ้วยแต่กับผลงานในลีกกลับไม่ค่อยสู้ดีมาตั้งแต่ซีซั่นก่อน สุดท้ายพวกเขาก็ร่วงตกชั้นลงไปหลังจบฤดูกาล 1979-80
1982 – แฮร์ธ่า ทำแต้มตามหลัง ชาลเก้ 04 เพียงแค่ 3 คะแนนพร้อมกับกอดคอกันกลับคืนสู่ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จ
1983 – แต่อยู่ได้เพียงปีเดียวทีมก็ร่วงตกชั้นลงสู่ บุนเดสลีกา 2 อีกครั้ง เมื่อจมอยู่ในอันดับบ๊วยหลังจบฤดูกาล 1982-83
1986 – ย้อนไปในปีที่พวกเขาได้กลับไปเล่นอยู่ใน บุนเดสลีกา หนหลังสุด ได้มีการรื้อไอเดียที่จะควบรวมสโมสรกับ เทนนิส โบรุสเซีย เบอร์ลิน กับอีก 2 ทีมในละแวกใกล้เคียง แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเมื่อทีมตกต่ำถึงขนาดร่วงลงไปสู่ ดิวิชั่น 3 หลังจบซีซั่น 1985-86
1988 – หลังจมปลักอยู่ใน ดิวิชั่น 3 นาน 2 ปี พวกเขาก็กลับคืนสู่ บุนเดสลีกา 2 ได้อีกครั้ง
1990 – หญิงชรา คว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 ได้เป็นสมัยแรก พร้อมคว้าสิทธิ์กลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศ
1991 – เป็นอีกครั้งที่ชีวิตใน บุนเดสลีกา ช่างดูโหดร้าย ในที่สุดพวกเขาก็กลายเป็นทีมบ๊วยที่มีแต้มตามหลัง เนิร์นแบร์ก ทีมที่ลอยอยู่เหนือโซนตกชั้นไปไกลถึง 15 คะแนน
1993 – ในขณะที่ทีมชุดใหญ่ยังคงตะเกียกตะกายอยู่ใน บุนเดสลีกา 2 แต่ทีมสำรองของ แฮร์ธ่า ก็เกือบสร้างประวัติศาสตร์ช็อควงการลูกหนังด้วยการผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิง เดเอฟเบ โพคาล ก่อนจะพ่ายให้กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ทีมในกลุ่มหัวแถวของ บุนเดสลีกา ในซีซั่นนั้นไปแบบหวุดหวิด 1-0
1994 – ปัญหาด้านการเงินตามมาหลอกหลอนทีมอีกครั้งหลังถูกตรวจพบว่ากำลังมีหนี้สินติดตัวอยู่ 10 ล้านมาร์ค ก่อนที่สโมสรจะหาทางออกด้วยการเทขายสิทธิ์การถือครองพื้นที่และสรรหาสปอนเซอร์รายใหม่เข้ามารวมถึงมีการเซ็นสัญญากับทีมบริหารหน้าใหม่
1997 – แฮร์ธ่า หาทางกลับสู่ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จพร้อมยุติระยะเวลานาน 6 ปีของการไม่มีทีมจาก เบอร์ลิน ลงเตะอยู่ในลีกสูงสุดเลย ซึ่งระหว่างช่วงเวลานั้น บุนเดสลีกา กลายเป็นลีกระดับท็อปเพียงเจ้าเดียวของยุโรปที่ไม่มีทีมตัวแทนจากเมืองหลวงลงเล่นอยู่ในลีกอันดับ 1 ของประเทศ
1999 – การกลับมาของพวกเขาในครั้งนี้ดูดีขึ้น หลังจากผ่านพ้นไป 2 ซีซั่นทีมก็สามารถจบในอันดับที่ 3 พร้อมคว้าสิทธิ์ลงเตะในเวที ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้เป็นครั้งแรก
2005 – หลังทำผลงานได้ไม่ดีจนต้องดิ้นรนหนีตกชั้นในซีซั่นที่ผ่านมา แต่แล้วพวกเขาก็สามารถพลิกฟอร์มจนกลับมาคว้าที่ 4 ได้ในฤดูกาล 2004-05 พร้อมกับที่ เซบาสเตียน ไดส์เลอร์ และ มาร์เซลินโญ่ สองสตาร์ดังของทีมมีรายชื่อติดอยู่ในทีมยอดเยี่ยมบุนเดสลีกาประจำฤดูกาล อันที่จริงแล้วพวกเขามีโอกาสจะคว้าโควตาไปลงเตะใน แชมเปี้ยนส์ ลีก เสียด้วยซ้ำ แต่ดันทำได้แค่เสมอกับ ฮันโนเวอร์ 96 ในนัดสุดท้าย จนทำให้ แวร์แดอร์ เบรเมน คว้าสิทธิ์นั้นไปแทน โดยที่ เบรเมน ก็เลยถือโอกาสส่งของขวัญไปให้กับ ฮันโนเวอร์ เป็นแชมเปญ 96 ขวดเพื่อแทนการขอบคุณหลังเกม
2010 – แม้ แฮร์ธ่า จะเกาะอยู่ในกลุ่มลุ้นพื้นที่ยุโรปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ซีซั่นที่แล้วพวกเขาก็จบอยู่ในอันดับที่ 4 แต่ไปๆมาๆกลับทำผลงานร่วงกราวจนจมอยู่ตรงก้นตารางและตกชั้นลงไปหลังสิ้นสุดฤดูกาล 2009-10
2011 – ทีมใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็กลับคืนสู่ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จ หลังสามารถเข้าป้ายเป็นที่ 1 ใน บุนเดสลีกา 2 ซีซั่น 2010-11
2012 – แต่พวกเขาก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกันเมื่อจบ 34 นัดในซีซั่นต่อมาด้วยการรั้งอยู่ในอันดับที่ 16 จนต้องไปเตะเกมเพลย์ออฟหนีตายกับ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปด้วยสกอร์รวม 2 นัด 4-3 จนต้องร่วงลงไปสู่ บุนเดสลีกา 2 ดังเดิม
2013 – แฮร์ธ่า หาทางกลับสู่ลีกสูงสุดได้อย่างรวดเร็วเมื่อสามารถคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 ได้ด้วยการทำแต้มทิ้งห่าง ไอน์ทรัค บราวน์ชไวก์ ทีมอันดับ 2 ไปไกลถึง 9 คะแนน
2014 – หญิงชรา เปิดซีซั่นการกลับคืนสู่ บุนเดสลีกา ได้อย่างสวยหรูจากการไล่ถล่ม ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต 6-1 ในถิ่น โอลิมเปียสตาดิโอน แต่สุดท้ายพวกเขาก็จบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 11 ไปแบบเงียบๆ
2016 – ในขณะที่กำลังย่างเข้าสู่ช่วงเบรกหนีหนาว ทีมสามารถทะยานขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 3 แต่ด้วยฟอร์มที่ดร็อปลงไปในช่วงครึ่งหลังก็ทำให้พวกเขาจบฤดูกาล 2015-16 ด้วยอันดับที่ 7 พร้อมๆกับที่ผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศ เดเอฟเบ โพคาล ก่อนจะพ่ายคาบ้านให้กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 3-0
2017 – ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ ทีมโชว์ฟอร์มเด่นด้วยการแพ้ไปเพียงแค่ 2 จาก 13 เกมแรกจนรั้งอยู่ในอันดับที่ 3 เมื่อถึงช่วงเบรกหนีหนาว แต่ก็เหมือนฉายหนังซ้ำกับซีซั่นที่ผ่านมาเมื่อพวกเขาเริ่มทำผลงานได้แย่ลงในช่วงครึ่งหลังก่อนจะจบฤดูกาล 2016-17 ด้วยอันดับที่ 6
2018 – หลังกระเด็นหลุดจากรอบแบ่งกลุ่ม ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ไปอย่างรวดเร็วด้วยการเป็นทีมบ๊วยของกลุ่ม J พวกเขาก็ประคองตัวเองจนจบฤดูกาล 2017-18 ด้วยการรั้งอยู่ในอันดับที่ 10
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน