พลิกประวัติ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ทีมจอมเก๋าแห่งยอร์คเชียร์

Huddersfield Town

สโมสรฟุตบอลฮัดเดอร์สฟิลด์ทาวน์ (Huddersfield Town Association Football Club) หรือที่รู้จักกันทั่วในนาม ฮัดเดอร์สฟิลด์ มีถิ่นฐานตั้งอยู่ในเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ชื่อเดียวกันในอาณาเขตเทศมณฑล เวสต์ ยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ หลังการก่อตั้งสโมสรขึ้นมาภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี พวกเขาก็กลายเป็นทีมแรกของประเทศที่สามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ 3 สมัยติดต่อกัน ซึ่งมีเพียง อาร์เซน่อล, ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เท่านั้นที่สามารถสร้างสถิติเดียวกันได้ในภายหลัง แต่ภายหลังการตกชั้นจาก ดิวิชั่น 1 ลงไปในปี 1972 ฮัดเดอร์สฟิลด์ ใช้เวลาร่วม 45 ปีวนเวียนอยู่ในลีกระดับ 2, 3 และ 4 ของฟุตบอลลีก ก่อนจะทะยานกลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศได้อีกครั้งในปี 2017 ภายใต้การนำทัพของ เดวิด ว้ากเนอร์

ฉายา “เดอะ เทอร์เรียร์ส” ของสโมสรเริ่มต้นขึ้นในฤดูกาล 1969-70 เมื่อพวกเขาหันกลับมาใช้ชุดแข่งเหย้าดีไซน์ลายพาดขาว-น้ำเงินพร้อมกับโลโก้สุนัขพันธุ์เทอร์เรียร์สีแดงบนหน้าอกด้านซ้าย ที่กลายมาเป็นชื่อเล่นและมาสคอตของทีมในเวลาต่อมา ปัจจุบันทีมลงเตะเกมเหย้าอยู่ในถิ่น เคิร์กลีส์ สเตเดี้ยม หรือที่ล่าสุดอยู่ภายใต้ชื่อเสียงเรียงนามใหม่ว่า จอห์น สมิธส์ สเตเดี้ยม ตามข้อตกลงของ ไฮเนเก้น ที่กระโดดเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับพวกเขาตั้งแต่ปี 2012

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1908 – สโมสรถือกำเนิดขึ้นจากการร่วมตัวกันของสมาชิกผู้ก่อตั้งในร้านเหล้าแห่งหนึ่งในตัวเมือง ฮัดเดอร์สฟิลด์ และด้วยเงินทุน 500 ปอนด์พวกเขาได้เริ่มเปิดตัวสนาม ลีดส์ โร้ด รังเหย้าแห่งแรกของทีมก่อนจะดำเนินการจดทะเบียนสโมสรในรูปแบบบริษัทตั้งแต่เริ่ม ทีมลงเตะเกมแรกกับ แบรดฟอร์ด ก่อนจะเอาชนะไปได้ 2-1 ต่อหน้าแฟนบอลในบ้านราว 1 พันคน
1910 – ฮัดเดอร์สฟิลด์ ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน ฟุตบอลลีก อย่างเป็นทางการ ก่อนที่พวกเขาจะระดมทุนร่วม 6,000 ปอนด์เพื่อปรับปรุง ลีดส์ โร้ด ให้สามารถรองรับผู้ชมได้ราว 34,000 คน ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างก็ได้แล้วเสร็จลงในปีถัดมา
1919 – หลังเปิดตัวผ่านพ้นปีที่ 10 ไป สโมสรก็เริ่มประสบปัญหาหนี้สินที่มีมูลค่าราว 25,000 ปอนด์ จนเริ่มวางแผนที่จะย้ายไปอยู่ใน เอลแลนด์ โร้ด ที่กลายมาเป็นสนามเหย้าของ ลีดส์ ยูไนเต็ด ในเวลาต่อมา แต่หลังจากที่ข่าวแพร่กระจายออกไป บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนในท้องถิ่นก็เริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการแบ่งซื้อหุ้นของสโมสรหน่วยละ 1 ปอนด์ จนทำให้ทีมยังคงปักหลักอยู่ที่เดิมต่อไปได้
1920 – ฮัดเดอร์สฟิลด์ ผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ได้เป็นครั้งแรก ก่อนจะพ่ายให้กับ แอสตัน วิลล่า 1-0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามพวกเขาสามารถคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 และเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรก
1921 – ภายในช่วงปีแรกของการฟาดแข้งอยู่ในระดับ ดิวิชั่น 1 ทีมพยายามกระเสือกกระสนหนีตายมาโดยตลอด จนกระทั่งเดือนมีนาคมและเหลือเกมการแข่งขันอยู่เพียงแค่ 7 นัด เฮอร์เบิร์ต แชปแมน มือขวาของ อัมโบรส แลงก์ลี่ย์ ก็ได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่กุนซือแทนในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะพาทีมชนะ 4 จาก 7 เกมสุดท้ายจนจบในอันดับที่ 17 จาก 22 ทีมและอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้
1922 – แชปแมน ช่วยให้ทีมได้เข้าชิงชนะเลิศในรายการ เอฟเอ คัพ เป็นหนที่สองในรอบ 3 ปี และคราวนี้พวกเขาก็ได้สมหวังหลังเฉือนเอาชนะ เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ 1-0 และกลายเป็นโทรฟี่ระดับเมเจอร์ใบแรกของสโมสร ก่อนจะเดินหน้าปราบ ลิเวอร์พูล 1-0 ในเกม แชริตี้ ชิลด์ ตอนต้นฤดูกาลถัดมา
1924 – หลังจบในอันดับที่ 3 เมื่อฤดูกาลก่อนหน้านี้ มาคราวนี้ ฮัดเดอร์สฟิลด์ สามารถเบียดลุ้นแชมป์กับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ และ ซันเดอร์แลนด์ ได้อย่างเข้มข้น ก่อนที่พวกเขาจะคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากการทำคะแนนและผลต่างประตูได้เท่ากับ คาร์ดิฟฟ์ แต่กลับเฉือนคู่แข่งไปเพียงแค่การยิงประตูได้มากกว่า 1 ลูกเท่านั้น
1925 – จากความสำเร็จอันรวดเร็วก็ทำให้ทีมมีฐานแฟนบอลเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สโมสรตัดสินใจขยายความจุของสนามเพิ่มขึ้นจนสามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 60,000 คน แถมยังตอกย้ำความยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 ได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยหลังจากจบฤดูกาลนั้น แชปแมน ก็ได้โบกมือลาเพื่อไปอยู่กับ อาร์เซน่อล ที่พร้อมจะเปย์ค่าเหนื่อยให้มากกว่าเป็นสองเท่า
1926 – เซซิล พอตเตอร์ ถูกดึงตัวเข้ามารับตำแหน่งแทนที่ แชปแมน ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความร้อนแรงของพวกเขาลดน้อยถอยลงไป เมื่อ ฮัดเดอร์สฟิลด์ สามารถสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นทีมแรกของ อังกฤษ ที่สามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ 3 สมัยติดต่อกัน โดยทำแต้มนำหน้า เดอะ กันเนอร์ส ที่อดีตกุนซือของพวกเขาพึ่งย้ายไปคุมทีมเมื่อช่วงหน้าร้อนถึง 5 คะแนน
1928 – ภายในซีซั่นที่ 2 ของ แจ็ค แชปลิน ที่ย้ายเข้ามารับช่วงต่อจาก พอตเตอร์ ที่อำลาทีมไปหลังสร้างประวัติศาสตร์การคว้าแชมป์ เขาก็พาทีมเข้าชิง เอฟเอ คัพ ที่ยังเป็นการลงเตะใน เวมบลีย์ เป็นครั้งแรกของสโมสร ก่อนจะถูก แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส บดเอาชนะไปได้ 3-1
1930 – ภายใต้การคุมทีมของ เคลม สตีเฟนสัน อดีตกองหน้าของทีมก็ช่วยให้ ฮัดเดอร์สฟิลด์ หวนคืนกลับสู่ เวมบลีย์ ได้อีกครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ อาร์เซน่อล ของ เฮอร์เบิร์ต แชปแมน อดีตผจก.ทีมของพวกเขาไปด้วยสกอร์ 2-0
1932 – ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ปีนั้น ระหว่างเกม เอฟเอ คัพ รอบที่ 6 กับ อาร์เซน่อล ภายใน ลีดส์ โร้ด ก็ได้กลายเป็นสถิติยอดคนดูในสนามมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่ 67,037 คน โดยที่เกมจบลงด้วยความพ่ายแพ้คาบ้าน 1-0
1938 – สตีเฟนสัน พาลูกทีมผ่านเข้าไปชิงดำในถ้วย เอฟเอ คัพ ได้อีกครั้ง แต่พวกเขาก็ยังคงต้องผิดหวังต่อไปเมื่อพ่ายให้กับ เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ 1-0 จากการเสียจุดโทษในนาทีที่ 119 ของการต่อเวลาพิเศษ
1952 – ภายหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ฮัดเดอร์สฟิลด์ ก็เริ่มมีผลงานที่สาละวันเตี้ยลง จนสุดท้ายภายในฤดูกาล 1951-52 ทีมก็จบในอันดับรองบ๊วยและร่วงตกชั้นลงไปสู่ ดิวิชั่น 2
1953 – อย่างไรก็ตามหลังจบซีซั่นถัดมาด้วยการทำแต้มตามหลัง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมแชมป์เพียง 2 คะแนน ก็ทำให้ทั้งคู่จับมือกันขึ้นไปเล่นใน ดิวิชั่น 1 ฤดูกาลหน้า
1956 – หลังโชว์ฟอร์มหรูด้วยการจบในอันดับที่ 3 ภายในปีแรกหลังเลื่อนชั้นขึ้นมา ก่อนจะตกลงไปอยู่กลางตารางในปีก่อนหน้านั้น แต่พอหลังจบ 42 นัดในช่วงท้ายซีซั่น 1955-56 ฮัดเดอร์สฟิลด์ ก็กอดคอกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่พากันเลื่อนชั้นขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้นกลับลงไปสู่ในที่เดิมของพวกเขาพร้อมๆกัน
1970 – ภายในซีซั่นแรกของการเปิดตัวฉายา “เดอะ เทอร์เรียร์ส” อย่างเต็มตัว ภายใต้การดูแลของ เอียน กรีฟส์ ทีมก็สามารถคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 และกลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรกได้ในรอบ 14 ปี
1972 – ชีวิตใน ดิวิชั่น 1 ของทีมผ่านไปอย่างยากลำบาก จนสุดท้ายเพียง 2 ปีหลังการกลับขึ้นมาพวกเขาก็ตกชั้นลงไปอีกครั้งจากการจมอยู่ในอันดับบ๊วย พร้อมกับสภาพแพแตกเนื่องจากผู้เล่นคนสำคัญที่ทยอยกันย้ายออกไป
1973 – เคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากการสูญเสียผู้หลักตัวหลักออกไปเป็นจำนวนมาก ก็ส่งผลให้ ฮัดเดอร์สฟิลด์ รั้งตำแหน่งรองบ๊วยและตกลงไปอยู่ใน ดิวิชั่น 3 เป็นครั้งแรกหลังจบฤดูกาล 1972-73
1975 – เท่านั้นยังไม่พอ เดอะ เทอร์เรียร์ส ได้กลายเป็นทีมแรกที่เคยคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศที่ต้องร่วงลงไปอยู่ในลีกระดับ 4 หลังจบ 46 นัดใน ดิวิชั่น 3 ด้วยการจมอยู่ท้ายตาราง
1980 – หลังความพยายามฟื้นฟูสภาพทีมอยู่หลายปี มิก บักซ์ตัน ที่ผันตัวเองจากตำแหน่งนักกายภาพและก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้คุมทีมอย่างเต็มตัว ก็ช่วยพาทีมคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 4 และยิงไปถึง 101 ประตูภายในซีซั่นนั้นจนขยับกลับคืนมาได้ขั้นหนึ่ง
1983 – ด้วยความมุ่งมั่นของ บักซ์ตัน หลังจบเกมสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ฮัดเดอร์สฟิลด์ ก็รั้งอยู่ในอันดับที่ 3 พร้อมคว้าสิทธิ์กลับขึ้นไปเล่นใน ดิวิชั่น 2 ฤดูกาลหน้าแบบอัตโนมัติ
1988 – หลังทำได้แค่ประคับประคองตัวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วทีมก็ตกลงไปอยู่ใน ดิวิชั่น 3 อีกครั้งหลังจบในอันดับบ๊วยจากการถูกคู่แข่งกะซวกไปรวมกัน 100 ประตูตลอดทั้งฤดูกาล
1994 – ภายหลังการลงเตะใน ลีดส์ โร้ด ยาวนานร่วม 86 ปี ในขณะที่ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ยังคงมีสถานะเป็นทีมที่อยู่ในลีกระดับ 3 พวกเขาก็ตัดสินใจย้ายเข้าสู่ เคิร์กลีส์ สเตเดี้ยม สนามเหย้าแห่งใหม่ที่เริ่มต้นตอกเสาเข็มกันภายในปีก่อนหน้านั้น
1998 – แบร์รี่ รูเบอรี่ นักธุรกิจท้องถิ่นก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของทีมคนใหม่ พร้อมเงินสนับสนุนสำหรับการนำทางให้ทีมไต่เต้าขึ้นไปสู่ พรีเมียร์ลีก
2003 – ในช่วงระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนมือเจ้าของมาเป็น เดวิด เทย์เลอร์ ที่บริหารงานจนทีมติดหนี้อยู่ราว 20 ล้านปอนด์ ซ้ำร้ายหลังจบฤดูกาล 2002-03 พวกเขายังร่วงตกชั้นลงมาสู่ลีกระดับ 4 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1975 แต่ยังดีที่ได้ เคน เดวี่ นักธุรกิจที่เป็นเจ้าของ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ไจแอนท์ส ทีมรักบี้ที่ใช้งาน เคิร์กลีส์ เป็นสนามเหย้าร่วมกันกระโดดเข้ามาช่วยเทคโอเวอร์ ในขณะที่ ปีเตอร์ แจ็กสัน ก็ถูกดึงตัวเข้ามาทำหน้าที่คุมทีมสำหรับการออกสตาร์ทซีซั่นใหม่
2004 –ผลงานในซีซั่นเปิดตัวของ แจ็กสัน ช่วงแรกเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ แต่พอหลังจากวันคริสมาต์ผ่านพ้นไป เขาก็พาลูกทีมเก็บชัยชนะ 6 นัดรวดและเริ่มเร่งฟอร์มได้อย่างน่าประทับใจจนกระทั่งมีโอกาสได้ลงเล่นในเกมเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้นกับ แมนส์ฟิลด์ ทาวน์ ก่อนจะเอาชนะไปได้จากการดวลจุดโทษ 4-1 จนขยับกลับขึ้นมาสู่ ลีกวัน ได้อีกครั้ง
2006 – แม้จะออกสตาร์ทฤดูกาล 2005-06 ได้ค่อนข้างดีก่อนจะเริ่มออกอาการแผ่วในช่วงกลาง แต่สุดท้าย เดอะ เทอร์เรียส์ ก็ยังประคองตัวจนได้ลุ้นในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้น อย่างไรก็ตามพวกเขากลับพ่ายให้กับ บาร์นสลี่ย์ ไปด้วยสกอร์รวม 4-1 จนทำให้ต้องลงเล่นอยู่ใน ลีกวัน ต่อไปในปีหน้า
2011 – ระหว่างช่วงรอยต่อของ 2 ฤดูกาลภายในปีนั้น ฮัดเดอร์สฟิลด์ สามารถสร้างสถิติไร้พ่ายในเกมลีกได้ยาวนานถึง 43 เกม ซึ่งตกเป็นที่สองรองจากสถิติไร้พ่าย 49 นัดของ อาร์เซน่อล ระหว่างปี 2003-04
2012 – หลังจบซีซั่นในอันดับที่ 4 จนคว้าสิทธิ์ได้ลุ้นในเกมเพลย์ออฟ ทีมเฉือนเอาชนะ เอ็มเค ดอนส์ ด้วยผลรวม 3-2 ในรอบตัดเชือก ก่อนจะเดินหน้าไปสยบ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในนัดชิงที่ เวมบลีย์ จากการดวลจุดโทษตัดสินด้วยสกอร์ 8-7 จนได้กลับขึ้นเป็นเล่นในลีกระดับ 2 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี
2015 – ชีวิตใน แชมเปี้ยนชิพ ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด และส่งผลกระทบให้มีการผลัดเปลี่ยนผจก.ทีมไปหลายคน เริ่มจาก ไซม่อน เกรย์สัน ผู้พาทีมเลื่อนชั้นที่ถูกปลดออกไป และได้ตัว มาร์ค โรบินส์ เข้ามาทำงานอยู่ปีกว่าๆก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น คริส พาวเวลล์ จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2015 ทีมก็หันไปจีบ เดวิด ว้ากเนอร์ อดีตเฮดโค้ชทีมสำรองของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ผู้ที่สนิทสนมกันดีกับ เจอร์เก้น คล็อปป์ ให้เข้ามานั่งเก้าอี้กุนซืออย่างเต็มตัว โดยระหว่างการเปลี่ยนถ่ายผจก.ทีมทั้ง 4 คนก็จะมีชื่อของ มาร์ค ลิลลิส เข้ามาทำหน้าที่แก้ขัดอยู่ในระยะสั้นๆทุกครั้ง

เดวิด ว้ากเนอร์

2017 – ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 2016-17 หลายๆฝ่ายต่างปรามาสกันว่า เดอะ เทอร์เรียส์ เป็นหนึ่งในทีมเต็งที่จะร่วงตกชั้นลงสู่ ลีกวัน แต่สุดท้ายแล้ว ว้ากเนอร์ ก็หักปากกาเซียนด้วยการพาทีมจบในอันดับที่ 5 และคว้าตั๋วไปลงเตะในพรีเมียร์ลีก ซีซั่นหน้าได้แบบลุ้นระทึกจากการเอาชนะ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ด้วยการดวลจุดโทษในรอบตัดเชือก ก่อนจะมายิงเป้าตัดสินหลังจบ 120 นาทีอีกครั้งกับ เรดดิ้ง ที่ เวมบลีย์
2018 – หลังกลับมามีโอกาสฟาดแข้งในลีกสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972 พวกเขาต้องลุ้นจนถึงนัดที่ 37 โดยหลังจากบุกไปยันเสมอ เชลซี ได้ 1-1 ที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ ถึงเป็นการการันตีว่าทีมจะอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างแน่นอน

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

ลีดส์ ยูไนเต็ด ถูกจัดให้เป็นคู่ต่อสู้อันดับ 1 ที่คอยชิงดีชิงเด่นกับพวกเขา ในขณะที่สถิติในการพบกันของทั้งสองฝ่ายทาง ฮัดเดอร์สฟิลด์ ดูจะทำได้ดีกว่าจากการเอาชนะไปได้ 32 ครั้งในการลงทำศึก เวสต์ ยอร์คเชียร์ ดาร์บี้ ทั้งหมด 78 ครั้ง โดยที่เสมอกันไป 19 ครั้งและตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ 27 ครั้ง

แบรดฟอร์ด ซิตี้ ก็เป็นคู่อริสำคัญอีกทีม จากที่ทั้งคู่มีสถานภาพใน ฟุตบอลลีก ที่ใกล้เคียงกันมาตลอดในรอบหลายทศวรรษหลังสุด และยังถือเป็นทีมคู่ต่อสู้ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ใกล้กันมากที่สุดอีกด้วย โดยที่ทีมทำผลงานได้ดีกว่าจากการเอาชนะ 21 เสมอ 17 และแพ้
14 ในการพบกันทั้งหมดที่ผ่านมา

นอกจากนี้ก็ยังมีคู่อริอื่นๆอย่าง บาร์นสลี่ย์, โอลด์แฮม หรืออดีตสโมสรที่ยุบตัวลงไปแล้วอย่าง ฮาลิแฟกซ์ ทาวน์ ในขณะที่ แมนฯ ซิตี้ ก็เคยถูกจัดให้เป็นทีมคู่แข่งที่เคยเบียดลุ้นแชมป์ลีกสูงสุดมาด้วยกันเมื่อสมัยที่ยังเป็น ดิวิชั่น 1