ขุดคุ้ยประวัติ ลีดส์ ยูไนเต็ด พญายูงทองแห่งยอร์คเชียร์

ขุดคุ้ยประวัติ ลีดส์ ยูไนเต็ด พญายูงทองแห่งยอร์คเชียร์

สโมสรฟุตบอลลีดส์ยูไนเต็ด (Leeds United Football Club) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม ลีดส์ ยูไนเต็ด คือทีมฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน เมืองลีดส์ เขตเวสต์ยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ ทีมเจ้าของฉายา เดอะ ไวท์ส (The Whites) หรือ เดอะ พีค็อกส์ (The Peacocks) หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า “ยูงทอง” ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1919 ภายหลังการล่มสลายของ Leeds City F.C. และได้เข้ามาถือครองสนาม เอลแลนด์ โร้ด อย่างเต็มตัว ปัจจุบันพวกเขาลงเตะอยู่ใน อีเอฟแอล แชมเปี้ยนชิพ ลีกลำดับที่ 2 ของระบบเกมลูกหนังในอังกฤษ ลีดส์ เคยคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศมาแล้ว 3 ครั้ง, เอฟเอ คัพ และ ลีก คัพ อย่างละ 1 ครั้ง, แชริตี้/คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2 ครั้ง รวมถึง อินเตอร์ ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ อีก 2 ครั้ง พวกเขายังเคยทะลุเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1975 แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับ บาเยิร์น มิวนิค และยังเคยผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2001 นอกจากนี้ทีมยังเคยได้ตำแหน่งรองแชมป์ในรายการ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ ปี 1973 ซึ่งช่วงเวลาอันรุ่งเรืองของสโมสรส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การคุมทีมของ ดอน เรวี่ ในช่วงยุคปี 60 ถึง 70 ยูงทอง จะลงสนามในเกมเหย้าด้วยชุดแข่งสีขาวล้วน ตราสโมสรของพวกเขาจะมีสัญลักษณ์ของ กุหลาบขาวแห่งยอร์ค ที่อยู่เคียงข้างกับตัวอักษรย่อของทีม “LUFC” โดยที่ แมนฯ ยูไนเต็ด, เชลซี และ มิลล์วอลล์ จะถูกมองว่าเป็นทีมคู่ปรับตัวฉกาจ

ยูงทอง ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1919 ภายหลังการล่มสลายของ Leeds City F.C.

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1904 – Leeds City F.C. สโมสรต้นกำเนิดของพวกเขาได้ฤกษ์เปิดตัวขึ้นภายในปีนั้น

1905 – Leeds City F.C. ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลลีก โดยเริ่มต้นจากการลงเตะใน ดิวิชั่น 2 และจบฤดูกาลแรกด้วยอันดับที่ 6

1912 – หลังจากนั้นทีมไม่เคยทำอันดับได้ดีกว่าเมื่อตอนซีซั่นเปิดตัว แถมยังเกือบตกชั้นไปในฤดูกาล 1911-12 จากการหล่นลงไปอยู่ในอันดับรองบ๊วย แต่ยังโชคดีที่ได้รับการโหวตให้อยู่ต่อไป

1919 – แต่แล้วภายในปีนั้นหลังสร้างปัญหาร้ายแรงด้วยการทำผิดกฎในการจ่ายค่าแรงนักเตะระหว่างช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ทำให้ถูกบทลงโทษจากฟุตบอลลีกจนต้องยุบทีมและปล่อยตัวผู้เล่นออกไปให้กับสโมสรอื่นๆ ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกับการถือกำเนิดขึ้นมาของ ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่มี ฮิลตัน คราวเธอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสโมสรคนแรกและ ดิ๊ก เรย์ คอยทำหน้าที่ผจก.ทีม ก่อนจะได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมแข่งขันใน มิดแลนด์ ลีก โดยเข้ามาแทนที่ในโควตาทีมสำรองของ Leeds City F.C. ในขณะที่ Yorkshire Amateur A.F.C. ก็เข้ามาช่วยเซ้งต่อสนาม เอลแลนด์ โร้ด

1920 – สโมสรตัดสินใจซื้อสนาม เอลแลนด์ โร้ด ต่อจาก Yorkshire Amateur A.F.C. ก่อนจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลลีกที่เริ่มต้นด้วยระดับ ดิวิชั่น 2 จนกระทั่งจบฤดูกาล 1920-21 ด้วยอันดับที่ 12

1924 – ภายใต้การคุมทีมของ อาเธอร์ แฟร์คลัฟ ที่เข้ามารับตำแหน่งพร้อมกับการเปิดตัวในฟุตบอลลีก ก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 ได้ในฤดูกาล 1923-24 และขยับขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศได้เป็นครั้งแรก พร้อมกับการทยอยคืนเงินกู้ 35,000 ปอนด์ ที่ ฮิลตัน คราวเธอร์ วิ่งเต้นหาเข้ามาเมื่อตอนเปิดตัวสโมสร

1927 – แต่หลังจากป้วนเปี้ยนอยู่ไม่ไกลจากท้ายตารางตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ในที่สุด ยูงทอง ก็ร่วงลงไปอยู่ใน ดิวิชั่น 2 ดังเดิมจากการจบฤดูกาล 1926-27 ด้วยอันดับรองบ๊วย พร้อมกับการตัดสินใจลาออกของ แฟร์คลัฟ

1928 – ลีดส์ ดึงตัว ดิ๊ก เรย์ กุนซือคนแรกของพวกเขากลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง และเขาก็สามารถพาทีมกลับขึ้นไปยัง ดิวิชั่น 1 ได้ด้วยการคว้าอันดับที่ 2 รองจาก แมนฯ ซิตี้

1931 – แม้ เรย์ จะสร้างความประทับใจด้วยการพาทีมจอดป้ายในอันดับที่ 5 เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา แต่พอมาถึงฤดูกาล 1930-31 ผลงานของทีมกลับตกลงไปอย่างฮวบฮาบจนกระทั่งตกชั้นลงไปจากการจบด้วยอันดับรองบ๊วย

1932 – และก็เป็นอีกครั้งที่ทีมใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวในการกลับขึ้นมา ซึ่ง เรย์ สามารถแก้ตัวด้วยการพาทีมเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 รองจาก วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส

1935 – แม้ทีมจะเกาะอยู่ในพื้นที่กลางตารางได้ใน 2 ซีซั่นที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ในฤดูกาล 1934-35 ของพวกเขากลับดูน่าเป็นห่วง จนทำให้ ดิ๊ก เรย์ ตัดสินใจลาออกในเดือนมีนาคม ก่อนที่ บิลลี่ แฮมป์สัน จะเข้ามารับไม้ต่อและช่วยประคองทีมจนจบด้วยอันดับที่ 18

1937 – เป็นอีกหนึ่งซีซั่นที่ทีมทำผลงานได้อย่างย่ำแย่เมื่อต้องมาลุ้นหนีตายก่อนจะจบฤดูกาล 1936-37 ด้วยการรั้งในอันดับที่ 19 และมีอยู่ 2 คะแนนเหนือทีมตกชั้น

1939 – ในขณะที่ทีมนิ่งอยู่ในตำแหน่งท้ายตารางจากการเสมอ 1 และแพ้ 2 จาก 3 เกมแรกในฤดูกาล 1939-40 ฟุตบอลลีกก็ต้องปิดตัวลงอย่างกะทันหันเนื่องจากประเทศก้าวเข้าสู่ภาวะ สงครามโลกครั้งที่ 2

1947 – และแล้วภายในซีซั่นแรกของการกลับมาลงเตะกันอีกครั้ง ยูงทอง ก็ต้องร่วงลงสู่ ดิวิชั่น 2 จากการเก็บได้เพียง 18 คะแนนจนจมอยู่ในอันดับบ๊วยของตารางหลังปิดฉากฤดูกาล 1946-47

1948 – วิลลิส เอ็ดเวิร์ดส์ เริ่มงานในฐานะกุนซืออย่างเต็มตัวด้วยการกลับมาตั้งต้นใหม่ใน ดิวิชั่น 2 หลังขยับขึ้นมาเสียบแทน บิลลี่ แฮมป์สัน ประมาณ 1 เดือนก่อนจะตกชั้น แต่ผลงานของทีมก็ไม่กระเตื้องขึ้น จนกระทั่งยอมลดบทบาทลงมาเป็นผู้ช่วยของ แฟรงค์ บัคลี่ย์ หลังจากอยู่ในตำแหน่งได้ราว 1 ปีพอดี ก่อนที่ทีมจะจอดป้ายด้วยอันดับที่ 18

1956 – ลีดส์ ต้องอดทนรอจนถึงฤดูกาล 1955-56 จึงสามารถเลื่อนชั้นขึ้นสู่ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ จากการได้อันดับที่ 2 รองจาก เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์

ลีดส์ ต้องอดทนรอจนถึงฤดูกาล 1955-56 จึงสามารถเลื่อนชั้น

1957 – ทีมเปิดตัวในลีกสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีได้ดีพอสมควร จากการรั้งอยู่ในอันดับที่ 8 หลังจบฤดูกาล 1956-57 แต่สโมสรก็ต้องประสบปัญหาทางด้านการเงินจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่เริ่มลุกลามจากอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกเมื่อช่วงต้นซีซั่นที่สร้างความเสียหายเป็นจำนวนเงินราว 100,000 ปอนด์ ซึ่งก็เป็นจังหวะที่ จอห์น ชาร์ลส์ ซุปตาร์ทีมชาติเวลส์ของพวกเขาจะกระหายถึงความสำเร็จที่มากกว่านั้น และแม้ ไรช์ คาร์เตอร์ กุนซือของทีมจะพยายามเกลี้ยกล่อมอย่างเต็มที่แต่ก็รั้งไว้ไม่อยู่ จนต้องยอมปล่อยตัวเขาให้กับ ยูเวนตุส ในช่วงซัมเมอร์ปี 1957 ด้วยค่าตัว 65,000 ปอนด์ที่กลายเป็นสถิติโลกในขณะนั้น

1959 – สโมสรแต่งตั้ง บิลล์ แลมบ์ตัน เข้ามารับหน้าที่เทรนเนอร์ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1958-59 แต่ก็ทำได้เพียงพาทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 15 โดยในระหว่างซีซั่นนั้นเขาได้เซ็นสัญญากับ ดอน เรวี่ ศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษที่อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตค้าแข้งเข้ามาเสริมทีม

1960 – และแล้ว ยูงทอง ก็หนีชะตากรรมไปไม่พ้นเมื่อต้องร่วงลงสู่ ดิวิชั่น 2 อีกครั้งหลังจบฤดูกาล 1959-60 ด้วยการทำคะแนนตามหลัง น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ที่เอาตัวรอดได้เพียงแค่แต้มเดียว

1961 – สถานการณ์ของพวกเขายังคงไม่น่าไว้วางใจ จนกระทั่ง แจ็ค เทย์เลอร์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเฮดโค้ชในเดือนมีนาคม ก็ทำให้ ดอน เรวี่ ถูกแต่งตั้งเป็นผู้เล่น/ผจก.ทีมและช่วยประคับประคองตัวจนจอดป้ายด้วยอันดับที่ 14

ดอน เรวี่ ถูกแต่งตั้งเป็นผู้เล่นและผจก.ทีม

1962 – ท่ามกลางสภาวะวิกฤติทางการเงิน เรวี่ ยังคงกัดฟันช่วยพาทีมรอดพ้นจากการตกชั้นในซีซั่น 1961-62 ได้อย่างหวุดหวิดจากการเก็บชัยชนะในนัดปิดฤดูกาล

1964 – แต่หลังจากนั้นไม่นานด้วยการพยายามพัฒนาทีมขึ้นมาจากผู้เล่นระดับเยาวชน รวมถึงการหันมาใช้ชุดแข่งนัดเหย้าในสไตล์สีขาวล้วนตามแบบ เรอัล มาดริด ก็ทำให้ ลีดส์ ผงาดขึ้นมาครองแชมป์ ดิวิชั่น 2 ได้เป็นหนที่สอง และคว้าสิทธิ์กลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศอีกครั้ง

1965 – ในซีซั่นต่อมา เรวี่ สร้างความตื่นตะลึงด้วยการพาลูกทีมขับเคี่ยวลุ้นแชมป์ ดิวิชั่น 1 ไปกับ แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี ได้อย่างเข้มข้น ก่อนจะเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 โดยมีคะแนนเท่ากับ ยูไนเต็ด ทีมแชมป์แต่เป็นรองตรงประตูได้เสีย พร้อมกับการตีตั๋วลงเตะในเกมยุโรปเป็นครั้งแรกซีซั่นหน้าในรายการ อินเตอร์ ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ ที่ถือเป็นต้นแบบของ ยูฟ่า คัพ และ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ทีมยังผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ได้เป็นครั้งแรกแต่ก็พ่ายให้กับ ลิเวอร์พูล 2-1

1966 – พวกเขารั้งตำแหน่งรองแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยคราวนี้ทีมตกเป็นรอง ลิเวอร์พูล ทีมแชมป์ที่ทำแต้มได้มากกว่า 5 คะแนน และมีแต้มเท่ากับ เบิรนลี่ย์ อันดับ 3 แต่มีลูกได้เสียที่ดีกว่า นอกจากนี้ทีมยังทำผลงานเปิดตัวในถ้วยยุโรปได้อย่างน่าประทับใจ จากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศที่บุกไปพ่ายให้กับ เรอัล ซาราโกซ่า 1-0 ในเลกแรกก่อนจะกลับมาเอาชนะใน เอลแลนด์ โร้ด 2-1 ซึ่งเนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีกฎอเวย์โกลจึงทำให้ต้องตัดสินหาผู้เข้าชิงด้วยการลงเตะเกมเพลย์ออฟ ก่อนที่พวกเขาจะพ่ายให้กับคู่แข่งจากสเปน 3-1

พวกเขารั้งตำแหน่งรองแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยคราวนี้ทีมตกเป็นรอง ลิเวอร์พูล

1967 – ทีมผ่านเข้าไปเล่นใน อินเตอร์ ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ เป็นปีที่สองติดต่อกัน และคราวนี้พวกเขาไปได้ไกลขึ้นจากการผ่าน คิลมาร์น็อค คู่แข่งจากสกอตแลนด์ในรอบตัดเชือก จนได้เข้าชิงกับ ดินาโม ซาเกร็บ แต่สุดท้ายจากการบุกไปพ่ายที่ ซาเกร็บ 2-0 ก่อนจะกลับมาทำได้แค่เสมอ 0-0 ในบ้านก็ทำให้ทีมยังคงชวดแชมป์ในรายการนี้

1968 – แม้จะพาทีมจบฤดูกาล 1967-68 ด้วยอันดับที่ 4 เป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่ในที่สุด เรวี่ ก็สามารถคว้าโทรฟี่ระดับเมเจอร์ใบแรกมาประดับสโมสรได้สำเร็จจากการนำลูกทีมเดินทางเข้าสู่ เวมบลีย์ เพื่อเผชิญหน้ากับ อาร์เซน่อล ในนัดชิงชนะเลิศ ลีก คัพ

1968 ที่ได้ประตูชัย 1-0 จาก เทอร์รี่ คูเปอร์ แบ็คซ้ายทีมชาติอังกฤษตั้งแต่นาทีที่ 20 ของเกม นอกจากนี้ด้วยการลงเตะในถ้วยยุโรปเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมบนเส้นทางคล้ายๆกับปีที่แล้ว ด้วยการผ่าน ดันดี ยูไนเต็ด ทีมจากสกอตแลนด์ในรอบรองชนะเลิศ ก็ทำให้ ยูงทอง ได้เข้าชิงกับ เฟเรนซ์วารอส โดยหลังจากเปิดบ้านเฉือนเอาชนะไปก่อน 1-0 แล้วค่อยบุกไปยันเสมอ 0-0 ได้ที่ ฮังการี ก็ทำให้พวกเขาคว้าดับเบิ้ลแชมป์มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่

1969 – เรวี่ มาทำให้บรรดาสาวกได้สุขสมหวังอย่างต่อเนื่องจากการทำแต้มทิ้งห่าง ลิเวอร์พูล ทีมอันดับ 2 อยู่ 6 คะแนนหลังจบ 42 นัดในฤดูกาล 1968-69 จนเป็นฝ่ายได้ชูถ้วยแชมป์ ดิวิชั่น 1 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรด้วยสถิติไร้พ่ายในบ้านและแพ้ในเกมลีกไปเพียงแค่ 2 ครั้งตลอดทั้งซีซั่น

1970 – พวกเขาออกสตาร์ทฤดูกาลถัดมาด้วยการเฉือนเอาชนะ แมนฯ ซิตี้ 2-1 และคว้าแชมป์ แชริตี้ ชิลด์ มาครองได้เป็นสมัยแรก อย่างไรก็ตามทีมไม่สามารถป้องกันแชมป์เอาไว้ได้หลังเข้าป้ายเป็นที่ 2 โดยมีแต้มตามหลัง เอฟเวอร์ตัน ทีมแชมป์อยู่ถึง 9 คะแนน ในขณะที่ผลงานเปิดตัวในถ้วย ยูโรเปี้ยน คัพ ก็เป็นไปอย่างน่าพอใจจากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศก่อนจะพ่ายให้กับ เซลติก นอกจากนี้พวกเขายังผ่านเข้าไปชิงถ้วย เอฟเอ คัพ เป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ เชลซี 2-1 ในนัดชิงรอบรีเพลย์หลังเสมอกันมาในคราวแรก 2-2

1971 – ทีมคว้าตำแหน่งรองแชมป์ได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน หลัง อาร์เซน่อล บุกไปเฉือนเอาชนะ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ คู่ปรับตัวฉกาจได้ 1-0 ในนัดปิดฤดูกาลจนทำคะแนนนำหน้าพวกเขาไปเพียงแค่แต้มเดียว อย่างไรก็ตาม ลีดส์ ก็ยังสามารถคว้าถ้วยรางวัลได้ในรายการ อินเตอร์ ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ จากการบุกไปยันเสมอ ยูเวนตุส 2-2 ที่ ตูริน ในเลกแรก ก่อนจะกลับมาเสมอกัน 1-1 ในบ้านตนเองจนเป็นฝ่ายเอาชนะไปด้วยกฎอเวย์โกล

1972 – แฟนๆทีมยูงทองคงแอบเสียดายหลังพยายามขับเคี่ยวลุ้นแชมป์มากับ ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้ และ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ก่อนที่ฝ่ายหลังสุดที่นำทัพโดย ไบรอัน คลัฟ ยอดกุนซือฝีปากกล้าจะทำคะแนนปาดหน้าคู่แข่งจนคว้าแชมป์ไปครองได้แบบสุดระทึก ถึงแม้จะตกไปอยู่อันดับที่ 2 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแต่พวกเขาก็ยังคงมีรางวัลติดไม้ติดมือ จากการผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ กับ อาร์เซน่อล ก่อนจะเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 1-0 จากประตูชัยของ อัลลัน คลาร์ก ดาวซัลโวประจำทีมในช่วงครึ่งหลัง และกลายเป็นแชมป์สมัยแรกและสมัยเดียวของพวกเขาในรายการนี้จวบจนถึงปัจจุบัน

1973 – ทีมทำผลงานในลีกดร็อปลงเล็กน้อยจากการได้อันดับที่ 3 รองจาก อาร์เซน่อล และ ลิเวอร์พูล ทีมแชมป์ แต่ก็ยังไปได้ไกลในถ้วยยุโรปจากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ ก่อนจะพ่ายให้กับ เอซี มิลาน ไปแบบฉิวเฉียดจากประตูชัย 1-0 ของ ลูชาโน่ เคียรูจี้ ศูนย์หน้าดีกรีทีมชาติอิตาลี ตั้งแต่นาทีที่ 5 นอกจากนี้พวกเขายังพลาดโอกาสป้องกันแชมป์ เอฟเอ คัพ เมื่อได้ดวลกับ ซันเดอร์แลนด์ ในนัดชิงที่ เวมบลีย์ ก่อนจะพ่ายไปแบบหวุดหวิด 1-0

1974 – ในที่สุดแชมป์ลีกสมัยที่ 2 ที่รอคอยก็มาถึง เมื่อทีมสามารถทำแต้มทิ้งห่าง ลิเวอร์พูล คู่แข่งลุ้นแชมป์ได้ 5 คะแนนหลังจบฤดูกาล 1973-74 และยังเป็นโทรฟี่ทิ้งท้ายของ ดอน เรวี่ หลังอยู่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสโมสรมายาวนาน 13 ปี ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหันไปรับงานคุมทีมชาติอังกฤษในช่วงซัมเมอร์

1975 – สโมสรเปิดตัว ไบรอัน คลัฟ เข้ามาเป็นผจก.ทีมคนใหม่ท่ามกลางความเซอร์ไพรส์ของใครหลายๆคน เนื่องจากก่อนหน้านั้น คลัฟ มักจะเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ เรวี่ และแทคติกของทีมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผลงานเปิดตัวของเขาก็ไม่ค่อยสู้ดีนักจากการพ่ายในการดวลจุดโทษให้กับ ลิเวอร์พูล ในเกม แชริตี้ ชิลด์ อันร้อนระอุที่มีนักเตะฝั่งละคนโดนไล่ออก และแล้ว คลัฟ ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 44 วันก่อนจะถูกปลดเนื่องจากทำผลงานได้อย่างยำแย่ ก่อนที่ จิมมี่ อาร์มฟิลด์ อดีตกัปตันทีมสิงโตคำรามจะถูกดึงตัวเข้ามาเสียบแทนและพาทีมจบในอันดับที่ 9 อย่างไรก็ตามพวกเขาสามารถผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ แต่ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ บาเยิร์น มิวนิค 2-0 ที่สนาม ปาร์ก เดส์ แพร็งซ์ ภายในเกมที่มีประเด็นโต้เถียงมากมาย

สโมสรเปิดตัว ไบรอัน คลัฟ เข้ามาเป็นผจก.ทีมคนใหม่

1978 – แม้ อาร์มฟิลด์ จะพยายามสร้างทีมใหม่ต่อจากขุนพลนักเตะของ เรวี่ แต่เขาก็ทำได้เพียงประคองทีมให้อยู่ในอันดับท็อป 10 ก่อนจะถูกแทนที่โดย จ็อก สตีน หลังจบฤดูกาล 1977-78 ที่ ลีดส์ อยู่ในอันดับที่ 9

1982 – ในระหว่างนั้นแม้จะมีการผลัดเปลี่ยนผจก.ทีมต่อจาก สตีน ที่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 เดือนมาเป็น จิมมี่ อดัมสัน และ อัลลัน คลาร์ก อดีตดาวยิงของทีมที่ได้แรงซัพพอร์ทในการเสริมทัพมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่อาจพาทีมรอดพ้นจากการตกชั้นหลังจบฤดูกาล 1981-82 ไปได้

1985 – ด้วยงบประมาณที่ร่อยหรอทำให้ เอ็ดดี้ เกรย์ อดีตตำนานแข้งของทีมที่เข้ามารับงานต่อจาก คลาร์ก ต้องหันไปใช้นโยบายพัฒนาทีมจากผู้เล่นเยาวชนสำหรับหนทางในการเลื่อนชั้น และทำได้ดีที่สุดด้วยการคว้าอันดับที่ 7 ในฤดูกาล 1984-85 ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกไปในช่วงต้นฤดูกาลถัดไป

1987 – และแล้วภายใต้ซีซั่นที่สองในการคุมทีมของ บิลลี่ เบรมเมอร์ อดีตขุนพลคนสำคัญในยุคของ ดอน เรวี่ ก็สามารถพา ยูงทอง จบในอันดับที่ 4 จนได้ไปลุ้นต่อในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้น ซึ่งหลังจากผ่าน โอลด์แฮม แอธเลติก มาได้ในรอบตัดเชือก พวกเขาก็ต้องไปชี้ชะตากับ ชาร์ลตัน แอธเลติก ในรอบชิงชนะเลิศ โดยหลังจากผลัดกันเก็บชัยชนะ 1-0 ในบ้านตนเองมาได้ทั้งคู่ ทีมของ เบรมเมอร์ ก็กลับพลาดท่าให้กับคู่แข่งในนัดรีเพลย์ด้วยสกอร์ 2-1 ที่ทั้ง 3 ประตูเกิดขึ้นในช่วงต่อเวลาพิเศษ

1988 – จากการพาทีมออกสตาร์ทฤดูกาล 1988-89 ได้อย่างย่ำแย่ก็ทำให้ เบรมเมอร์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และก็เป็น โฮเวิร์ด วิลกินสัน ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อพร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นในความสำเร็จอีกระลอกที่กำลังจะเกิดขึ้นในภายหลัง

1990 – หลังพยายามประคองตัวจนจบในอันดับที่ 10 เมื่อซีซั่นก่อน วิลกินสัน ก็สามารถพาทีมที่นำโดย กอร์ดอน สตรัคคั่น อดีตดาวเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ถูกเกลี้ยกล่อมให้ลงมาค้าแข้งอยู่ใน ดิวิชั่น 2 พร้อมรับหน้าที่สวมปลอกแขนกัปตันทีมในช่วงก่อนออกสตาร์ทฤดูกาล 1989-90 ทะยานขึ้นไปรั้งอยู่ในอันดับที่ 1 โดยมีแต้มเท่ากับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด แต่มีประตูได้เสียที่ดีกว่า พร้อมตีตั๋วกลับขึ้นไปเล่นใน ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ

1991 – พวกเขาสร้างผลงานซีซั่นแรกในรอบ 8 ปีของการกลับมาวาดลวดลายในลีกสูงสุดได้อย่างน่าประทับใจด้วยการคว้าอันดับที่ 4

1992 – ในขณะที่ อาร์เซน่อล และ ลิเวอร์พูล ทีมแชมป์และรองแชมป์ในซีซั่นก่อนทำผลงานตกลงไป ก็กลายเป็นโอกาสสำคัญของ ลีดส์ ที่นอกจาก สตรัคคั่น แล้วก็ยังมี ลี แชปแมน, แกรี่ แม็คอัลลิสเตอร์ และ เดวิด แบ็ตตี้ ที่เป็นกำลังสำคัญที่มารวมตัวกับการเสริมทัพภายในซีซั่นนั้นด้วย ร็อด วอลเลซ, โทนี่ โรดริโก้, สตีฟ ฮ็อดจ์ และ เอริค คันโตน่า ที่รายหลังสุดย้ายเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล จนทำคะแนนแซงหน้า แมนฯ ยูไนเต็ด ขึ้นไปคว้าแชมป์ลีกสูงสุดภายใต้ชื่อ ดิวิชั่น 1 ในซีซั่นทิ้งท้ายก่อนจะมีการรีแบรนด์เป็น พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลถัดไป

1993 – แม้จะเปิดหัวฤดูกาลป้องกันแชมป์ด้วยการครองถาด แชริตี้ ชิลด์ จากการเอาชนะ ลิเวอร์พูล ไปแบบสุดมันส์ 4-3 อย่างไรก็ตามทีมของ วิลกินสัน ก็ไม่สามารถรักษามาตรฐานเดิมๆเอาไว้ได้ จนร่วงลงไปอยู่ในอันดับที่ 17 อย่างน่าผิดหวังภาย อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการที่ วิลกินสัน ยอมปล่อยตัว คันโตน่า ไปให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 1992 จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่ของทีมคู่ปรับสำคัญ นอกจากนี้พวกเขายังกระเด็นตกรอบ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปอย่างรวดเร็วในรอบที่ 2 หลังพ่ายให้กับ เรนเจอร์ส ด้วยสกอร์รวม 4-2

1996 – ถึงต่อจากนั้นพวกเขาจะทำผลงานได้ดีขึ้นด้วยการคว้าอันดับที่ 5 ได้ 2 ปีติดต่อกัน แต่ก็หล่นลงมาจอดป้ายในอันดับที่ 13 ในฤดูกาล 1995-96 ที่แม้จะผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศในรายการ ลีก คัพ ได้เป็นหนที่สอง แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ แอสตัน วิลล่า ไปแบบยับเยิน 3-0

1997 – แม้จะพยายามเซ็นสัญญากับ เอียน รัช, ลี ชาร์ป, ไนเจล มาร์ติน และ ลี โบว์เยอร์ เข้ามาในช่วงซัมเมอร์ แต่หลังจากออกสตาร์ทฤดูกาล 1997-98 ได้อย่างน่าผิดหวัง ที่รวมถึงการพ่ายคาบ้านต่อทีมคู่อริ แมนฯ ยูไนเต็ด 4-0 ก็ทำให้ วิลกินสัน กระเด็นหลุดออกจากตำแหน่งในช่วงเดือนกันยายน 1996 ก่อนที่สโมสรจะแต่งตั้ง จอร์จ เกรแฮม ให้เข้ามารับงานต่อและพาทีมถูๆไถๆไปจนจนในอันดับที่ 11 ในขณะที่ ปีเตอร์ ริดส์เดล ผู้ที่สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับสโมสรก็ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานภายในปีนั้น

1998 – พวกเขากลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นจากการเสริมทัพด้วย จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ และ อัลฟ์ อิงเก้ ฮาแลนด์ จนคว้าสิทธิ์ลงเตะใน ยูฟ่า คัพ ฤดูกาลหน้าจากการจบในอันดับที่ 5 ก่อนที่ จอร์จ เกรแฮม จะตัดสินใจอำลาทีมไปหลังจบซีซั่นนั้นด้วยการย้ายไปคุมทีม สเปอร์ส

1999 – สโมสรประกาศแต่งตั้ง เดวิด โอเลียรี่ ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1998-99 และอดีตดาวเตะทีมชาติไอร์แลนด์ก็สามารถพาลูกทีมสานต่อผลงานของ เกรแฮม ได้อย่างน่าประทับใจ พร้อมกับการดึงตัว เดวิด แบ็ตตี้ กองกลางพันธุ์ดุผู้เป็นอดีตลูกหม้อของทีมกลับมาในช่วงกลางซีซั่น ก่อนจะขยับขึ้นไปจอดป้ายในอันดับที่ 4

สโมสรประกาศแต่งตั้ง เดวิด โอเลียรี่ ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1998-99

2000 – แม้จะต้องสูญเสีย จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ ไปให้กับ แอตเลติโก มาดริด ในช่วงปรีซีซั่น แต่พวกเขาก็ดาหน้าเสริมทัพด้วยการคว้าตัว ไมเคิ่ล บริดเจส และ ดาร์เรน ฮัคเคอร์บี้ เข้ามาทดแทนในแนวรุก นอกจากนี้ก็ยังมี เอริค บัคเค่, แดนนี่ มิลล์ส, ไมเคิ่ล ดูเบอร์รี่ และ เจสัน วิลค็อกซ์ ที่รายหลังสุดย้ายเข้ามาตอนกลางซีซั่น ก่อนที่ทีมจะเบียดแซงหน้า ลิเวอร์พูล และ เชลซี ขึ้นไปจบในอันดับที่ 3 พร้อมคว้าโควตาไปลงเตะใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลหน้า โดยในระหว่างฤดูกาลนั้น โอเลียรี่ ยังพาทีมผ่านเข้าไปจนถึงรอบตัดเชือก ยูฟ่า คัพ ที่ถูกเขี่ยตกรอบโดย กาลาตาซาราย ท่ามกลางเหตุการณ์อันน่าเศร้าจากการมีแฟนบอล 2 รายเสียชีวิตระหว่างเกมที่ออกไปเยือน ตุรกี

2001 – ด้วยนโยบายที่พร้อมจะกู้เงินเพื่อทุ่มซื้อผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาของ ปีเตอร์ ริดส์เดล ก็ยิ่งทำให้ ยูงทอง ใช้เงินแบบมือเติบหลังมีโอกาสลงเล่นในถ้วยยุโรปใบใหญ่ ด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถถอนทอนทุนคืนได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดโทรทัศน์รวมถึงเงินสนับสนุนที่หลั่งไหลเข้ามาจากสปอนเซอร์ต่างๆ ทีมเริ่มต้นช็อปกระจายในช่วงปรีซีซั่นด้วยการคว้าตัว โอลิวิเย่ร์ ดากูร์, มาร์ค วิดูก้า, โดมินิค มัตเตโอ และ ริโอ เฟอร์ดินานด์ ที่กลายเป็นสถิติสโมสรในราคา 18 ล้านปอนด์ แต่แล้วจากการทำผลงานในช่วงครึ่งซีซั่นแรกได้อย่างย่ำแย่จนถึงขั้นหล่นลงไปอยู่ในอันดับที่ 13 ตอนช่วงออกสตาร์ทปี 2001 ก็ทำให้อนาคตของพวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม แม้ทีมจะเสริมทัพอีกครั้งด้วยการยืมตัว ร็อบบี้ คีน มาจาก อินเตอร์ มิลาน ก่อนจะตัดสินใจซื้อขาดในภายหลัง จนกระทั่งเริ่มเรียกฟอร์มเก่งกลับมาได้ด้วยการเก็บชัยชนะได้ถึง 13 จาก 18 เกมที่เหลือ แต่ก็ยังทำได้เพียงคว้าอันดับที่ 4 และหมดสิทธิ์ลงเล่นใน แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลหน้า ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะพลาดรายได้หลายสิบล้านปอนด์ตามที่หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ และแม้ทีมจะไปได้ไกลจนถึงรอบรองชนะเลิศในถ้วยยุโรปซีซั่นปัจจุบันก่อนจะตกรอบด้วยน้ำมือของ บาเลนเซีย ก็ไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก

2002 – บอร์ดบริหารยังยอมอดทนแบกรับภาระหนี้สินและกัดฟันอนุมัติงบราว 20 ล้านปอนด์ในการเซ็นสัญญา 2 นักเตะดีกรีทีมชาติอังกฤษทั้ง ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ และ เซ็ธ จอห์นสัน เข้ามาในช่วงก่อนออกสตาร์ทฤดูกาล 2001-02 แม้ทีมของ โอเลียรี่ จะเริ่มต้นได้ดีและมีโอกาสรั้งตำแหน่งจ่าฝูงอยู่หลายสัปดาห์ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก แต่พอย่างเข้าสู่กลางเดือนมกราคม 2002 ฟอร์มของพวกเขาก็กลับช็อตไปดื้อๆและเอาชนะใครในลีกไม่ได้เลยเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน แม้จะกลับมากู้หน้าด้วยการคว้าชัยชนะ 7 จาก 10 นัดสุดท้าย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการคว้าสิทธิ์ไปลงเตะใน แชมเปี้ยนส์ ลีก ตามที่หวังจากการจบในอันดับที่ 5 จึงทำให้ โอเลียรี่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยมี เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์ เตรียมเข้ามาเสียบแทนในฤดูกาลถัดไป

2003 – ท่ามกลางวิกฤติทางด้านการเงินของสโมสรที่กำลังเลวร้ายเต็มทีพวกเขาต้องยอมปล่อยตัว ริโอ เฟอร์ดินานด์ ให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในราคา 30 ล้านปอนด์ที่กลายเป็นสถิติค่าตัวแพงที่สุดสำหรับนักเตะชาวอังกฤษในเวลานั้น รวมถึงการขาย ร็อบบี้ คีน ให้กับ สเปอร์ส 7 ล้านปอนด์ ภายในช่วงปรีซีซั่น ก่อนจะเจียดเงิน 2.75 ล้านปอนด์เพื่อคว้าตัว นิค บาร์มบี้ มาจาก ลิเวอร์พูล แต่หลังจากนั้นพวกเขายังต้องเสีย โจนาธาน วู้ดเกต ไปให้กับ เรอัล มาดริด รวมถึง ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ที่ไปอยู่กับ แมนฯ ซิตี้ ในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง ก็ทำให้ผลงานของทีมเป็นไปอย่างย่ำแย่จนกระทั่ง เวนาเบิ้ลส์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 มีนาคมและได้ตัว ปีเตอร์ รีด เข้ามาคุมทีมแทน ก่อนที่อีก 10 วันให้หลัง ปีเตอร์ ริดส์เดล ก็ต้องยอมสละตำแหน่งเก้าอี้ประธานเพื่อเปิดทางให้ จอห์น แม็คเคนซี่ หนึ่งในผู้อำนวยการของสโมสรก้าวขึ้นมาบริหารงานแทน สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังสามารถประคองตัวจนจบในอันดับที่ 15 ได้

2004 – ปัญหาทางด้านการเงินของ ลีดส์ เดินมาจนถึงจุดที่ยากเกินจะเยียวยาเมื่อพวกเขายังเป็นหนี้อยู่ร่วม 100 ล้านปอนด์ และผลจากการขายผู้เล่นตัวหลักเพื่อทยอยใช้หนี้ก็ทำให้ขุมกำลังของทีมอ่อนยวบลงไปถนัดตาจนทำให้ ปีเตอร์ รีด ถูกปลดออกไปหลังจากพาทีมเก็บได้เพียง 8 แต้มจาก 12 เกม ซึ่ง เอ็ดดี้ เกรย์ อดีตนักเตะของทีมที่ถูกดึงเข้ามาเสียบแทนก็ไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก เฉกเช่นเดียวกับความพยายามของ เจอรัลด์ คราสเนอร์ นักธุรกิจชาวอังกฤษที่เป็นผู้นำกลุ่มกิจการค้าร่วมที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรระหว่างฤดูกาลและพยายามหาทางปลดหนี้ให้ ท้ายที่สุดแล้วทีมก็ร่วงตกชั้นลงไปหลังจบ 38 นัดในซีซั่น 2003-04 ด้วยการอยู่ในอันดับรองบ๊วย

2005 – เควิน แบล็คเวลล์ อดีตผู้ช่วยผจก.ทีมถูกดันขึ้นมารับตำแหน่งคุมทีมอย่างเต็มตัวสำหรับการออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ใน ลีกแชมเปี้ยนชิพ โดยที่เขาต้องยอมปล่อยผู้เล่นตัวหลักออกไปแทบทั้งหมดทั้ง มาร์ค วิดูก้า, อลัน สมิธ, เจมส์ มิลเนอร์, โดมินิค มัตเตโอ, เอียน อาร์ท, แดนนี่ มิลล์ส, นิค บาร์มบี้, สกอตต์ คาร์สัน และ พอล โรบินสัน และเน้นสร้างทีมขึ้นมาใหม่โดยอาศัยการคว้าตัวผู้เล่นที่หมดสัญญามาแบบฟรีๆ โดยในระหว่างซีซั่นนั้นได้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของสโมสรมาเป็น เคน เบตส์ นักธุรกิจชื่อดังผู้เป็นอดีตเจ้าของทีม เชลซี เพื่อช่วยในการหลีกเลี่ยงการถูกเข้าควบคุมกิจการ ก่อนที่ทีมจะจอดป้ายอยู่ในอันดับที่ 14

2006 – พวกเขาสามารถทำผลงานได้ดีขึ้น จนขยับขึ้นมาจบในอันดับที่ 5 พร้อมคว้าสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้นด้วยการลงเตะเกมเพลย์ออฟ ที่แม้จะเริ่มต้นอย่างมีความหวังด้วยการผ่าน เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ มาได้ในรอบรองชนะเลิศ แต่สุดท้ายก็ไปพ่ายให้กับ วัตฟอร์ด 3-0 ในนัดชิงที่ มิลเลนเนี่ยม สเตเดี้ยม

2007 – แต่จากการออกสตาร์ทฤดูกาล 2006-07 ได้อย่างย่ำแย่ก็ทำให้สโมสรยกเลิกสัญญากับ แบล็คเวลล์ ในเดือนกันยายนและหันไปทาบทาม จอห์น คาร์เวอร์ เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่ก็อยู่ได้เพียงเดือนเศษๆก่อนที่ เดนนิส ไวส์ จะถูกดึงเข้ามาเสียบแทน สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่สามารถพาทีมรอดพ้นจากโซนตกชั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงการถูกเข้าควบคุมกิจการในเดือนพฤษภาคม 2007 ที่ทำให้ทีมยังต้องถูกตัดแต้มเพิ่มอีก 10 คะแนน จนออกมาเป็นบทสรุปที่ว่า ยูงทอง ต้องร่วงลงไปอยู่ใน ลีก วัน ฤดูกาลหน้าจากการเป็นทีมบ๊วยของตาราง

2008 – ในช่วงปรีซีซั่น 2007-08 สโมสรตัดสินใจทำเรื่องขอยกเลิกการถูกควบคุมกิจการที่ต้องวัดใจด้วยการยอมแลกกับการถูกตัด 15 แต้ม อย่างไรก็ตามด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมในการทำงานร่วมกันของ เดนนิส ไวส์ และ กุสตาโว่ โปเยต์ ผู้ช่วยของเขาก็ทำให้ทีมออกสตาร์ทด้วยสถิติไร้พ่ายไปถึง 13 เกม ก่อนที่ โปเยต์ จะแยกตัวออกไปอยู่กับ สเปอร์ส ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2007 จนกระทั่ง แกรี่ แม็คอัลลิสเตอร์ อดีตดาวเตะของทีมได้ขยับเข้ามาทำหน้าที่แทน ไวส์ ที่จากไปอยู่กับ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2008 ก่อนจะพาทีมจบด้วยอันดับที่ 5 แต่น่าเสียดายที่พวกเขากลับไปพ่ายให้กับ ดอนคาสเตอร์ โรเวอร์ส 1-0 ในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นนัดชิงชนะเลิศ

2009 – ไซม่อน เกรย์สัน ขยับเข้ามานั่งเก้าอี้กุนซือแทน แม็คอัลลิสเตอร์ ก่อนช่วงคริสมาสต์เพียงไม่กี่วันหลังทำผลงานในช่วงครึ่งซีซั่นแรกได้น่าผิดหวัง และช่วยพาทีมเร่งเครื่องจนจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 4 แต่ก็อดเข้าชิงในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นจากการพ่ายให้กับ มิลล์วอลล์ ตั้งแต่รอบตัดเชือก

2010 – ในที่สุด ลีดส์ ก็สามารถกลับคืนสู่ ลีกแชมเปี้ยนชิพ ได้สำเร็จ ภายในซีซั่นที่พวกเขาสามารถเขี่ย แมนฯ ยูไนเต็ด กระเด็นตกรอบ เอฟเอ คัพ ตั้งแต่รอบที่ 3 ได้อีกด้วย และแม้ทีมจะเริ่มออกอาการสะดุดตั้งแต่ผ่านเข้าสู่ปี 2010 แต่ก็ยังประคองตัวจนคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นได้แบบอัตโนมัติจากการได้อันดับที่ 2 รองจาก นอริช ซิตี้

2011 – แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ถูกดึงตัวเข้ามาเป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งในช่วงปรีซีซั่น ก่อนที่ทีมของ เกรย์สัน จะทำผลงานได้ไม่เลวแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการลุ้นโอกาสเลื่อนชั้นจากการจบในอันดับที่ 7 โดยมีแต้มน้อยกว่า ฟอเรสต์ ที่ได้ลงเล่นในเกมเพลย์ออฟ 3 คะแนน

2012 – ทีมจอดป้ายในฤดูกาล 2011-12 ด้วยอันดับที่ 14 ระหว่างซีซั่นที่มีการสับเปลี่ยนผจก.ทีมจาก ไซม่อน เกรย์สัน มาเป็น นีล วอร์น็อค

2013 – วอร์น็อค อยู่ในตำแหน่งได้จนถึงวันที่ 1 เมษายน ก็มีการสับเปลี่ยนกุนซือมาเป็น ไบรอัน แม็คเดอร์มอตต์ ที่สุดท้ายก็พาทีมจบในอันดับที่ 13

2014 – ภายในฤดูกาล 2013-14 มีการเปลี่ยนแปลงนอกสนามเกิดขึ้นมากมาย เริ่มจาก ซาลาห์ นูรัดดิน ผู้นำกลุ่ม GFH Capital ที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรตั้งแต่ปลายปี 2012 ขยับขึ้นมาเป็นผู้บริหารใหญ่แทนที่ เคน เบตส์ ในช่วงก่อนออกสตาร์ทซีซั่น จนกระทั่งกลุ่มเงินทุนสัญชาติบาห์เรนมาตัดสินใจขายหุ้นส่วน 75% ให้กับ มัสซิโม่ เชลลิโน่ นักธุรกิจชาวอิตาเลียนที่ยังดำรงตำแหน่งประธานสโมสรกายารี่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ขั้นตอนดำเนินการต่างๆกลับยืดเยื้อไปอีกเป็นเวลานานหลายเดือน ก่อนที่ทีมจะจบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 15

2015 – ท่ามกลางการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ให้กับ มัสซิโม่ เชลลิโน่ เจ้าของทีมคนใหม่ที่ล่าช้าจากปัญหาต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งผจก.ทีมที่กว่าจะได้ตัว ดาร์โก้ มิลานิช เข้ามาทำหน้าที่อย่างถาวรก็ปาเข้าไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม 2014 และจากข้อขัดแย้งทางด้านกฎหมายก็ทำให้ เชลลิโน่ ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสโมสรชั่วคราวในช่วงปลายเดือนมกราคม 2015 ก่อนที่ทีมจะจอดป้ายในฤดูกาลอันวุ่นวายด้วยอันดับที่ 15

2016 – เชลลิโน่ หวนกลับมารับตำแหน่งผู้บริหารได้อีกครั้งในช่วงปรีซีซั่น 2015-16 และจัดการแต่งตั้ง อูเว่ รอสเลอร์ ให้เข้ามาเป็นผจก.ทีมคนใหม่ แต่จากผลงานอันน่าผิดหวังก็ทำให้เขาอยู่คุมทีมได้ไม่ทันจบเดือนตุลาคม 2015 และถูกแทนที่โดย สตีฟ อีแวนส์ ที่พาทีมถูๆไถๆไปจนจบในอันดับที่ 13

2017 – แกรี่ มังค์ ถูกแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นเทรนเนอร์คนใหม่ ก่อนมาถึงเดือนธันวาคม 2016 ที่ มัสซิโม่ เชลลิโน่ เจ้าเก่าจะถูกทาง เอฟเอ สั่งแบนจากกิจกรรมทางลูกหนังไปนานอีก 18 เดือนจากการทำผิดกฎเกี่ยวกับเอเย่นต์นักเตะในการปล่อยตัว รอสส์ แม็คคอร์แม็ค ให้กับ ฟูแล่ม เมื่อปี 2014 ที่ทำให้เขายอมขายหุ้นส่วน 50% ให้กับ อันเดรีย ราดริซซานี่ นักธุรกิจเพื่อนร่วมชาติในเดือนมกราคม 2017 ในขณะที่ทีมก็พลาดโอกาสลุ้นเพลย์ออฟไปอย่างน่าเสียดายจากอาการแผ่วปลายและเอาชนะใครไม่ได้เลยใน 5 นัดสุดท้ายจนจบด้วยอันดับที่ 7

2018 – ในช่วงปรีซีซั่น 2017-18 ราดริซซานี่ จัดการซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดจาก เชลลิโน่ จนเป็นฝ่ายถือครองกรรมสิทธิ์ของสโมสร 100% ก่อนที่ แกรี่ มังค์ จะประกาศลาออก และกลายเป็น โธมัส คริสเตียนเซ่น ที่เข้ามาคุมทีมในการออกสตาร์ทซีซั่นใหม่ โดยที่ ราดริซซานี่ ยังจัดการซื้อสนาม เอลแลนด์ โร้ด กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของสโมสรอีกครั้งนับตั้งแต่ต้องยอมขายทอดตลาดออกไปเมื่อปี 2004 จนกระทั่งย่างเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ พอล เฮ็คกิ้งบอทท่อม ก็เข้ามาเสียบแทนในตำแหน่งของ คริสเตียนเซ่น ก่อนจะพาทีมจบฤดูกาลในอันดับที่ 13 หลังจากนั้นในวันที่ 1 มิถุนายน ลีดส์ ก็ประกาศแต่งตั้ง มาร์เซลโล่ บิเอลซ่า ขึ้นมาเป็นผจก.ทีมคนใหม่ในฤดูกาลหน้า

โธมัส คริสเตียนเซ่น ที่เข้ามาคุมทีมในการออกสตาร์ทซีซั่นใหม่

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

ครั้งหนึ่ง ปีเตอร์ รีด เคยออกมาพูดถึงบรรยากาศของกองเชียร์ในถิ่น เอลแลนด์ โร้ด ระหว่างการทำหน้าที่คุมทีมที่นั่นว่า “ตลอด 30 ปีผมไม่เคยเห็นการสนับสนุนใดเทียบเท่ากับกับเกมที่เปิดบ้านต้อนรับ อาร์เซน่อล เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน แฟนบอลของ ลีดส์ เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก” ความเห็นของ รีด ยังสอดคล้องกับอดีตผจก.ทีมที่เคยอยู่กับสโมสรในระดับ ดิวิชั่น 3 อย่าง เควิน แบล็คเวลล์ ที่พูดถึงบรรดากองเชียร์ว่า “แฟนๆจะติดตามทีมไปทุกหนทุกแห่ง” ในขณะที่ เดวิด โอเลียรี่ ก็เคยฝากคอมเมนต์ไว้ว่า “สโมสรมีฐานแฟนบอลที่ยิ่งใหญ่และพวกเขาจะยังคงอยู่กับทีมไปตลอด” Marching On Together คือเพลงประจำสโมสรของพวกเขา ในขณะที่กลุ่มแฟนบอลก็มักจะนำเพลง We Are The Champions, Champions of Europe (WACCOE) มาขับร้องกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมันเป็นเพลงที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ 1975 ที่ทีมพ่ายแพ้ให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ท่ามกลางการตัดสินที่ค่อนข้างจะค้านสายตาแฟนบอลส่วนใหญ่

ยูงทอง ยังเป็นเจ้าของสถิติจำนวนผู้เข้าชมเฉลี่ยสูงสุดตลอดกาล

ยูงทอง ยังเป็นเจ้าของสถิติจำนวนผู้เข้าชมเฉลี่ยสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับที่ 10 ของ พรีเมียร์ลีก ในทางกลับกันพวกเขาคือสโมสรที่ถูกแฟนบอลทีมอื่นเกลียดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของวงการลูกหนังอังกฤษ โดยขึ้นแท่นหมายเลข 1 ของการเป็นทีมที่ถูกเขม่นมากที่สุดในช่วงต้นฤดูกาล 2008-09 ลีดส์ มีทีมคู่อริมากมายทั้งคู่แข่งที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงอย่าง เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, แบรดฟอร์ด ซิตี้ และ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ แต่เหล่าทีมคู่ปรับที่สำคัญที่สุดก็คือ แมนฯ ยูไนเต็ด, เชลซี และ มิลล์วอล์ ในขณะที่ความสัมพันธ์ด้วยรูปแบบศัตรูระหว่าง กาลาตาซาราย ได้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อ 2 แฟนบอลของลีดส์ถูกแทงจนเสียชีวิตโดยกลุ่มกองเชียร์ของทีมยักษ์ใหญ่จากตุรกีในเกม ยูฟ่า คัพ รอบรองชนะเลิศที่พวกเขาออกเดินทางไปเยือนที่ อิสตันบูล เมื่อปี 2000 และหลังจากนั้นการย้ายทีมของ แฮร์รี่ คีเวลล์ ที่ไปอยู่กับ กาลาตาซาราย ในปี 2008 ก็ยิ่งสร้างความเดือดดาลให้กับบรรดาสาวกยูงทองขึ้นไปอีก