เจาะลึกประวัติ ราชันสีน้ำเงินแห่งเมืองเบียร์ ชาลเก้ 04

เจาะลึกประวัติ ราชันสีน้ำเงินแห่งเมืองเบียร์ ชาลเก้ 04

สโมสรฟุตบอล เกลเซนเคียร์เช่น ชาลเก้ 04 (Fußballclub Gelsenkirchen-Schalke 04 e.V.) หรือที่รู้จักทั่วไปในนาม ชาลเก้ 04 หรือที่ย่อกันสั้นๆว่า S0 4 คือทีมฟุตบอลที่เป็นส่วนหนึ่งของสโมสรกีฬาที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน เมืองเกลเซนเคียร์เช่น รัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย ประเทศเยอรมนี โดยที่ตัวเลข 04 ในชื่อของพวกเขาก็คือปี 1904 ที่สโมสรก่อตั้งขึ้น ชาลเก้ เคยมีประวัติการเป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลขวัญใจของประเทศมาอย่างยาวนาน แม้ยุครุ่งเรืองสุดขีดของพวกเขาจะอยู่ในช่วงยุคปี 30 ถึง 40 ก็ตาม ปัจจุบันทีมลงเตะอยู่ใน บุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของเยอรมัน และมีกลุ่มแฟนคลับอย่างเป็นทางการ 155,000 ค้นจากข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2018 ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และอันดับที่ 4 ของโลกในแง่ของจำนวนสมาชิก

สโมสรเปิดตัวขึ้นในปี 1904 และเคยคว้าแชมป์ลีกสูงสุด(ดั้งเดิม)มาแล้ว 7 สมัย, เดเอฟเบ โพคาล 5 ครั้ง, เดเอฟแอล ซูเปอร์ คัพ 1 ครั้ง รวมถึง ยูฟ่า คัพ อีก 1 สมัย พวกเขายังเป็นทีมแรกที่คว้าดับเบิ้ลแชมป์ภายในประเทศเมื่อปี 1937 นอกจากนี้ยังมีการดำเนินกิจกรรมอื่นๆของสโมสรอีกเช่น กรีฑา, บาสเกตบอล, แฮนด์บอล, ปิงปอง, กีฬาฤดูหนาว รวมถึง อีสปอร์ต นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ชาลเก้ ลงเตะในสนามเหย้า เฟลตินส์-อารีน่า ที่ปัจจุบันรองรับความจุ 62,271 ที่นั่ง พวกเขายังเป็นทีมฟุตบอลที่มีรายได้จากการดำเนินงาน (operating income) มากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกจากผลประกอบการที่เป็นบวก 48 ล้านยูโรและหนี้ 0% จากรายงานในเดือนสิงหาคม 2014 และยังเป็นทีมที่สร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 14 จากรายรับ 198 ล้านยูโร
ในเดือนพฤษภาคม 2014 นิตยสารฟอร์บส์ ได้จัดอันดับให้ ชาลเก้ เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดอันดับ 14 ของโลกจากมูลค่าประเมิน 446 ล้านยูโร ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 16%

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1904 – ในวันที่ 4 พฤษภาคม Westfalia Schalke ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนมัธยมและเริ่มต้นด้วยการสวมชุดแข่งสีแดงและเหลืองลงสนาม ในช่วงเริ่มต้นพวกเขายังไม่สามารถเข้าร่วมในทัวร์นาเมนต์สูงสุดระดับภูมิภาคและทำได้เพียงลงเตะอยู่ในระดับท้องถิ่น

1912 – หลายปีหลังจากที่พลาดเข้าร่วมแข่งขันในลีกอย่างเป็นทางการ พวกเขาตัดสินใจรวมตัวกับสโมสรยิมนาสติก Schalker Turnverein 1877 เพื่อยกระดับตนเองขึ้นมา

1915 – แผนการของพวกเขาถูกลากยาวมาอีก 3 ปีเมื่อ SV Westfalia Schalke ตัดสินใจแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศแต่ก็ดำเนินกิจการต่อไปได้ไม่นาน

1919 – ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็หันกลับมาผนวกกันอีกครั้งภายใต้ชื่อ Turn- und Sportverein Schalke 1877

1923 – สโมสรหน้าใหม่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยการคว้าแชมป์ในรายการ Schalke Kreisliga และนั่นก็เป็นช่วงเวลาที่ทีมได้รับฉายา Die Knappen (The Miners) เนื่องจากสามารถดึงดูดกลุ่มผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ที่เป็นคนงานเหมืองถ่านหินใน เกลเซนเคียร์เช่น

1924 – ทีมฟุตบอลทำการแยกตัวออกจากส่วนของยิมนาสติกอีกครั้งโดยที่ประธานสโมสรยังคงอยู่กับพวกเขา และหันมาเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น FC Schalke 04 ที่มาพร้อมกับชุดแข่งสีน้ำเงินและขาว จนกลายเป็นที่มาของฉายาที่สอง Die Königsblauen (The Royal Blues) หรือตามที่บ้านเราเรียกกันว่า ราชันสีน้ำเงิน

1925 – ชาลเก้ เริ่มยกระดับเป็นทีมระดับชั้นนำของท้องถิ่นจากสไตล์การต่อบอลสั้นจากเท้าถึงเท้าที่แม่นยำและกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงในเวลาต่อมาจากรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า Schalker Kreisel

1927 – ทีมทะยานขึ้นไปเป็นอยู่บนยอดสุดของลีกในระดับภูมิภาค และเริ่มต้นปูทางสู่นัดชิงชนะเลิศในระดับประเทศ

1928 – พวกเขาลงทุนสร้างสนามใหม่ที่มีชื่อว่า Glückauf-Kampfbahn และเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น FC Gelsenkirchen-Schalke 04 เหมือนดั่งเช่นในปัจจุบัน

พวกเขาลงทุนสร้างสนามใหม่ที่มีชื่อว่า Glückauf-Kampfbahn

1929 – ชาลเก้ สามารถชนะเลิศในรายการ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ฝั่งตะวันตก แต่แล้วในปีถัดมาพวกเขาก็ถูกแบนจากการแข่งขันไปเกือบครึ่งปีเนื่องจากปัญหาการจ่ายค่าแรงนักเตะที่สูงเกินกว่าที่ สมาคมฟุตบอลเยอรมัน กำหนดไว้

1931 – แม้จะถูกลงโทษไปนานหลายเดือนแต่ความนิยมของพวกเขาก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไป ในแมตช์แรกหลังพ้นโทษแบนตอนเดือนมิถุนายนปีนั้น ฝูงชนร่วม 70,000 คนต่างแห่กันเข้ามาให้กำลังใจทีมรักในบ้าน

1932 – S04 โชว์ฟอร์มติดลมบนและผ่านเข้าไปจนถึงรอบตัดเชือก เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ก่อนจะพ่ายให้กับ ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต ไปแบบหวุดหวิด 2-1

1933 – พวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นไปอีกแต่ก็ยังไปได้ไม่สุดทางเมื่อพ่ายยับเยินให้กับ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ 3-0 ในนัดชิงชนะเลิศรายการใหญ่สุดของประเทศ

1934 – หลังการเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของวงการลูกหนังโดยรัฐบาลฝ่ายนาซีในปีที่ผ่านมา ชาลเก้ ก็ถูกโยกให้ไปเล่นอยู่ใน Gauliga Westfalen ซึ่งเป็น 1 ใน 16 ลีกสูงสุดระดับภูมิภาคและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ไปอีกยาวนานร่วม 11 ฤดูกาลที่ทีมไม่เคยแพ้จากการลงเตะในบ้าน และเสียท่าให้กับคู่แข่งในเกมนอกบ้านไปเพียงแค่ 6 ครั้งเท่านั้น ในขณะที่ ชาลเก้ ก็ก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์ระดับประเทศครั้งแรกด้วยการเอาชนะ เนิร์นแบร์ก 2-1 ในนัดชิง เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ 1934

1935 – พวกเขาสามารถป้องกันแชมป์ได้จากการดวลกับ สตุ๊ตการ์ท ในนัดชิง ก่อนจะเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์สะใจคนดู 6-4 นอกจากนี้ยังได้เข้าชิงในรายการ Tschammer-Pokal หรือที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น เดเอฟเบ โพคาล ในภายหลังแต่ก็ถูก เนิร์นแบร์ก คู่ชิงแชมป์ประเทศในปีที่แล้วล้างแค้นไปด้วยสกอร์ 2-0

1936 – ทีมสร้างสถิติไร้พ่ายตลอดซีซั่นจากการแข่งขันใน Gauliga Westfalen แต่เดินทางไปไม่ถึงนัดชิงแชมป์ของประเทศ ในขณะที่ได้ผ่านเข้าไปชิงบอลถ้วยเป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่ก็ยังคงต้องผิดหวังเมื่อพ่ายให้กับ โลโคโมทีฟ ไลป์ซิก 2-1

1937 – ราชันสีน้ำเงิน คว้าแชมป์สูงสุดของประเทศได้เป็นหนที่สามหลังเอาชนะ เนิร์นแบร์ก 2-0 และยังเป็นการล้างตาจากที่ถูกอีกฝ่ายเขี่ยตกรอบรองชนะเลิศในปีที่ผ่านมา แถมยังสร้างผลงานระหว่างทางในลีกภูมิภาคด้วยการไม่แพ้ใครเลย นอกจากนี้พวกเขายังกลายเป็นทีมแรกที่คว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้สำเร็จ หลังเดินทางเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน คัพ เป็นปีที่สามติดต่อกันและเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ 2-1

1938 – ชาลเก้ เดินหน้าแบบไร้พ่ายใน Gauliga Westfalen ได้อีกครั้ง แต่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้ ฮันโนเวอร์ 96 ไปแบบฉิวเฉียด 4-3 ในนัดชิงชนะเลิศรอบรีเพลย์ที่ยังต้องต่อเวลาพิเศษอีกด้วย

1939 – พวกเขาสามารถสร้างสถิติไร้พ่ายในเกมลีกระดับภูมิภาคเป็นซีซั่นที่ 4 ติดต่อกัน และเดินหน้าต่อไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ก่อนจะถล่ม แอดมิร่า แบบเละเทะ 9-0

1940 – ทีมป้องกันแชมป์ประเทศได้อีกครั้งหลังเฉือนเอาชนะ เดรสด์เนอร์ ในรอบชิงที่ โอลิมเปีย สตาดิโอน 1-0

1941 – เป็นอีกครั้งที่ ชาลเก้ สร้างสถิติไร้พ่ายตลอดซีซั่นในการแข่งขัน Gauliga Westfalen แต่ก็ไม่สามารถป้องกันแชมป์เอาไว้ได้เมื่อตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ ราปิด เวียนนา 4-3 หลังทีมคู่ต่อสู้จาก ออสเตรีย ถูกควบรวมให้เข้ามาลงเตะอยู่ใน เยอรมัน ภายในช่วงเวลานั้น พวกเขายังมาอกหักซ้ำสองเมื่อถูก เดรสด์เนอร์ คู่ชิงเยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ปีที่แล้วตามมาเอาคืนในนัดชิง เยอรมัน คัพ ด้วยการเบียดเอาชนะไปได้ 2-1

1942 – S04 กลับมาคว้าแชมป์ประเทศได้จากชัยชนะ 2-0 เหนือ เฟิร์สต์ เวียนนา คู่แข่งที่มาจาก ออสเตรีย แต่กลับชวดโอกาสคว้าดับเบิ้ลแชมป์หลังพ่ายให้กับ 1860 มิวนิค 2-0 ในนัดชิงบอลถ้วย

1945 – หลังการปราชัยของฝ่ายนาซีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกมลูกหนังในประเทศอีกครั้ง ในขณะที่ ชาลเก้ พึ่งลงสนามในเกมลีกฉบับดั้งเดิมไปเพียงแค่ 2 นัดและต้องหยุดพักการแข่งขันไปเกือบ 2 ปี

1947 – ภายหลังการถือกำเนิดของ โอเบอร์ลีก้า ตะวันตก ที่มาล่าช้าไป 2 ปี ชาลเก้ ก็ได้กลับมาลงเตะอีกครั้งและสร้างสถิติการยำใหญ่ SpVgg Herten 20-0 ซึ่งก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพวกเขา แต่กลับชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของทีมที่ร่วมลงแข่งขันเสียมากกว่า โดยที่พวกเขาจบฤดูกาลนั้นด้วยการตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 6

1951 – ทีมสามารถคว้าแชมป์ โอเบอร์ลีกา ตะวันตก หรือลีกระดับภูมิภาครูปโฉมใหม่ แต่ก็ไปไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศของ รายการ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ

1955 – แม้พวกเขาจะไม่มีลุ้นอะไรจากการจบในอันดับที่ 5 ของ โอเบอร์ลีกา แต่ทีมก็สามารถฟันฝ่าเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เดเอฟเบ โพคาล แต่กลับถูก คาร์ลสรูห์ พลิกแซงเอาชนะไป 3-2 จาก 2 ประตูในช่วง 7 นาทีสุดท้ายของเกม

1958 – ราชันสีน้ำเงิน กลับมาคว้าแชมป์ โอเบอร์ลีก้า ก่อนจะมารั้งอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูงของกลุ่ม 2 จนได้ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศระดับประเทศกับผู้ชนะของกลุ่ม 1 และสุดท้ายพวกเขาก็เป็นฝ่ายสมหวังเมื่อโชว์ฟอร์มหรูไล่ต้อน ฮัมบูร์ก 3-0 พร้อมกับครองถาดแชมป์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ เป็นสมัยที่ 7 ภายหลังการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนสุดท้ายของทีมไม่นานก็ปรากฏหลักฐานความจงรักภักดีของฐานแฟนบอล เมื่อมีการบูรณะโบสถ์ เซนต์ โยเซฟ ในตัวเมือง เกลเซนเคียร์เช่น และเกิดมีภาพของ นักบุญ อลอยซิอุส กอนซาก้า พร้อมกับลูกฟุตบอลในชุดแต่งกายที่เป็นสีประจำสโมสรปรากฏอยู่บนบานกระจกหน้าต่างใบหนึ่ง

ราชันสีน้ำเงิน กลับมาคว้าแชมป์ โอเบอร์ลีก้า

1963 – ในซีซั่นสุดท้ายของรูปแบบลีกสูงสุดแบบดั้งเดิม ทีมจบฤดูกาล 1962-63 ด้วยการอยู่ในอันดับที่ 6 ของ โอเบอร์ลีกา ตะวันตก ซึ่งก็ยังดีเพียงพอสำหรับการติดเป็น 1 ใน 16 ทีมที่จะได้ร่วมเปิดตัวการแข่งขันรูปแบบใหม่ในซีซั่นหน้า

1964 – ชาลเก้ ประคองตัวด้วยการจบในอันดับที่ 8 ภายในฤดูกาล 1963-64 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดตัว บุนเดสลีกา

1965 – แม้จะตกลงไปอยู่ในอันดับบ๊วยหลังจบซีซั่น 1964-65 แต่ทีมก็รอดพ้นการตกชั้นไปอย่างโชคช่วยเนื่องจากทางสมาคมมีแผนที่จะขยายการแข่งขันเพิ่มเป็น 18 ทีมในฤดูกาลหน้า

1969 – หลังป้วนเปี้ยนอยู่ในโซนท้ายตารางมานานหลายปี นอกจากจะพาตัวเองไต่ขึ้นมาจนจบในอันดับที่ 7 ได้ พวกเขายังสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เดเอฟเบ โพคาล แต่จาก 2 ประตูของ แกร์ด มุลเลอร์ ในช่วงครึ่งเวลาแรกก็ทำให้ บาเยิร์น มิวนิค เป็นฝ่ายครองแชมป์ไปด้วยสกอร์ 2-1

1971 – ในช่วงปลายซีซั่น 1970-71 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในวงการลูกหนังเยอรมัน เมื่อมีการตรวจสอบพบการทุจริตในการแข่งขัน บุนเดสลีกา หรือที่เรียกกันว่า Bundesliga-Skandal ก่อนจะปรากฏหลักฐานว่า ชาลเก้ ก็เป็นหนึ่งในทีมที่มีส่วนพัวพันกับการล็อคผลจากการพ่ายแพ้ต่อ อาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ 1-0 ในวันที่ 17 เมษายน จนส่งผลให้นักเตะของทีม 13 คนถูกโทษแบนตลอดชีวิต ซึ่งรวมไปถึง เคล้าส์ ฟิชเชอร์, ไรน์ฮาร์ด ลิบูด้า และ เคล้าส์ ฟิคเทล ที่เป็นสมาชิกขาประจำของ ทีมชาติเยอรมันตะวันตก ภายในช่วงเวลานั้น แต่ยังดีที่มีการลดหย่อนบทลงโทษเหล่านั้นเหลือเพียงแค่ 6 เดือน – 2 ปี ในภายหลัง

1972 – ท่ามกลางมรสุมในช่วงที่ผ่านมา ราชันสีน้ำเงิน กลับสามารถทะยานเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 รองจาก บาเยิร์น มิวนิค ภายในซีซั่น 1971-72 และยังสามารถคว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล ได้เป็นสมัยที่สองหลังเป็นฝ่ายไล่ถล่ม ไกเซอร์สเลาเทิร์น ในนัดชิง 5-0

1973 – ทีมย้ายเข้าสู่รังเหย้าแห่งใหม่ พาร์คสตาดิโอน ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ ฟุตบอลโลก 1974 ที่ เยอรมัน รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

1977 – ชาลเก้ พลิกกลับมาทำผลงานได้น่าประทับใจอีกครั้ง เมื่อสามารถคว้าอันดับที่ 2 รองจาก โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค โดยที่ทีมแชมป์ทำแต้มได้มากกว่าพวกเขาเพียงแค่คะแนนเดียว

ชาลเก้ พลิกกลับมาทำผลงานได้น่าประทับใจอีกครั้ง

1981 – แต่หลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่ปีทีมก็ทำผลงานร่วงหล่นลงอย่างน่าใจหาย ก่นจะตกชั้นลงไปด้วยการจบฤดูกาล 1980-81 ในอันดับรองบ๊วย

1982 – พวกเขาใช้เวลาไม่นานก็สามารถพาตัวเองกลับคืนสู่ลีกสูงสุดได้ด้วยการคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 ภายในช่วงเวลาแค่ซีซั่นเดียว

1983 – แม้จะกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วแต่ทีมก็ร่วงตกชั้นลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน หลังจบฤดูกาล 1982-83 ด้วยอันดับที่ 16 จนต้องไปลุ้นในเกมเพลย์ออฟหนีตายกับ ไบเออร์ อัวร์ดิงเก้น ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปด้วยสกอร์รวม 2 นัด 4-2

1984 – และก็เป็นอีกครั้งที่พวกเขาสามารถเลื่อนชั้นกลับมาได้ภายในปีเดียว เมื่อตามเกาะติด คาร์ลสรูห์ ทีมแชมป์ บุนเดสลีกา 2 ขึ้นมาด้วย

1988 – หลังประคองตัวเองได้นานหลายปี ในที่สุด S04 ก็ตกชั้นลงไปอีกครั้งจากการจมอยู่ในอันดับบ๊วยเมื่อตอนสิ้นสุดฤดูกาล 1987-88

1991 – คราวนี้ต้องใช้เวลานาน 3 ปีกว่าที่ ชาลเก้ จะกลับคืนสู่ บุนเดสลีกา หลังทะยานเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 1 ของการแข่งขันระดับ ดิวิชั่น 2 ในซีซั่น 1990-91 และหลังจากนั้นพวกเขาก็ยังไม่เคยกลับลงมาอีกเลยจวบจนถึงปัจจุบัน

1997 – ราชันสีน้ำเงิน ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การได้แชมป์บอลถ้วยภายในประเทศเมื่อ 25 ปีก่อน จากการนำทัพของ ฮูบ สตีเฟ่นส์ ที่พาทีมทะลุเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ 1997 ที่ยังคงใช้วิธีลงแข่งแบบเหย้า-เยือน โดยหลังจากต่างฝ่ายผลัดกันเอาชนะ 1-0 ในบ้านตนเอง ก็ต้องมาตัดสินแชมป์ด้วยการดวลจุดโทษในเลกสองที่ต้องออกไปเยือน ซาน ซิโร่ ก่อนที่พวกเขาจะยิงเข้าทั้ง 4 คนในขณะที่ฝั่ง อินเตอร์ มิลาน มีเพียงแค่ ยูริ จอร์เกฟฟ์ ที่ส่งบอลผ่านเข้าประตูไปได้

ราชันสีน้ำเงิน ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก

2001 – ด้วยสไตล์การเล่นที่สู้ยิบตาจนได้รับฉายา ยูโร ไฟท์เตอร์ (Euro Fighters) นับตั้งแต่ปีที่ได้ครองถ้วยยุโรป บวกกับปรัชญาการเน้นเกมรับอันเหนียวแน่นก็ทำให้ทีมของ สตีเฟ่นส์ หวุดหวิดที่จะคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2000-01 โดยที่เกมนัดปิดฤดูกาลที่ พาร์คสตาดิโอน จบลงไปก่อนด้วยชัยชนะ 5-3 เหนือ อุนเตอร์ฮัคกิ้ง แต่แล้วกองเชียร์ของ ชาลเก้ ก็ต้องหัวใจสลายเมื่อรู้ข่าวในอีกไม่ที่นาทีให้หลังว่า พาทริค แอนเดอร์สัน สามารถยิงประตูตีเสมอ ฮัมบูร์ก ให้กับ บาเยิร์น ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บจนปาดหน้าคว้าแชมป์ไปเพียงแค่คะแนนเดียว อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ได้รับรางวัลปลอบใจเมื่อได้ชูถ้วย เดเอฟเบ โพคาล เป็นสมัยที่ 3 หลังเอาชนะคู่ชิงม้ามืดอย่าง ยูเนี่ยน เบอร์ลิน ทีมแชมป์ดิวิชั่น 3 ในฤดูกาลนั้นไปแบบไม่ยากเย็น 2-0

2002 – ชาลเก้ สามารถป้องกันแชมป์ เยอรมัน คัพ ได้ด้วยการสยบ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น 4-2 ที่ โอลิมเปีย สตาดิโอน และกลายเป็นแชมป์สมัยที่ 4 ของพวกเขาในรายการนี้ ก่อนที่ สตีเฟ่นส์ จะตัดสินใจย้ายไปรับงานกับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน หลังจบฤดูกาลนั้น

2005 – ราล์ฟ รังนิก กุนซือรายที่ 5 หลังการจากไปของ สตีเฟ่นส์ สามารถพาทีมขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 2 ได้อีกครั้ง แม้ช่องว่างระหว่าง บาเยิร์น ทีมแชมป์จะห่างไกลกันถึง 14 คะแนนก็ตาม นอกจากนี้พวกเขายังได้เข้าชิง เดเอฟเบ โพคาล เป็นครั้งที่ 3 ใน รอบ 5 ปี แต่ก็ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ เสือใต้ 2-1

2006 – จากการได้อันดับรองแชมป์ในปีที่ผ่านมา ทำให้ทีมมีโอกาสลงเล่นใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นครั้งที่สอง แต่ก็ทำผลงานไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่มจนได้ไปลงเตะอยู่ใน ยูฟ่า คัพ แทน ก่อนจะฝ่าฟันเข้าไปจนถึงรอบตัดเชือกและไปแพ้ให้กับ เซบีย่า ที่ก้าวขึ้นไปจนถึงตำแหน่งแชมป์ในที่สุด หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม Gazprom บริษัทน้ำมันสัญชาติรัสเซีย ได้ก้าวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์รายใหม่ให้กับทีมพร้อมเงินลงทุนกว่า 125 ล้านยูโรตลอดสัญญา 5 ปีครึ่ง โดยยังมีเงื่อนไขที่ระบุให้พวกเขากลายเป็นสโมสรพันธมิตรกับ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในการพัฒนาเกมลูกหนังร่วมกัน

2007 – หลังการเข้ามารับตำแหน่งของ เมียร์โก สโลมก้า ในช่วงกลางซีซั่นก่อน เขาก็ช่วยพาทีมเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 รองจาก สตุ๊ตการ์ท ที่จบฤดูกาล 2006-07 ด้วยแต้มที่มากกว่า 2 คะแนน

2008 – จากการเป็นที่ 2 ของกลุ่ม B รองจาก เชลซี ก็ทำให้ S04 สามารถผ่านรอบแบ่งกลุ่มในเวที แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้เป็นครั้งแรก โดยเข้าไปพบกับ ปอร์โต้ ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายและเป็นฝ่ายเอาชนะด้วยการดวลจุดโทษหลังเสมอกันมาโดยสกอร์รวม 1-1 ก่อนจะถูก บาร์เซโลน่า เขี่ยตกรอบก่อนรองชนะเลิศ ด้วยผลรวม 2-0 และส่งผลให้ สโลมก้า กระเด็นหลุดออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน

2009 – ในช่วงซัมเมอร์ปีนั้นสโมสรได้แต่งตั้ง เฟลิกซ์ มากัธ ผู้ที่พึ่งพา โวล์ฟสบวร์ก ครองถาด บุนเดสลีกา ในซีซั่นที่ผ่านมา และตามมาด้วยการใช้จ่ายมหาศาลเพื่อดึงตัวสตาร์ชั้นนำเข้ามาที่นำโดย คลาส-แยน ฮุนเตลาร์ และ ราอูล กอนซาเลซ ที่ช่วยยิงประตูได้อย่างถล่มทลายโดยเฉพาะในช่วงออกสตาร์ทซีซั่น 2009-10 ก่อนที่ทีมจะคว้าอันดับที่ 2 โดยทำแต้มตามหลัง บาเยิร์น 5 คะแนน

2011 – แต่แล้วด้วยการจัดตัวผู้เล่นที่ทำให้แฟนบอลรู้สึกขัดใจบวกกับจุดอ่อนในเกมรับที่ค่อนข้างเด่นชัดก็ทำให้ มากัธ ถูกปลดออกจากตำแหน่งกลางเดือนมีนาคม และหันไปคว้าตัว ราล์ฟ รังนิก กลับมาคุมทีมอีกครั้งก่อนจะช่วยสร้างเซอร์ไพรส์ในเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก ด้วยการนำลูกทีมบุกไปถล่ม อินเตอร์ มิลาน ทีมแชมป์เก่า 5-2 ถึงถิ่น ซาน ซิโร่ จนผ่านไปถึงรอบรองชนะเลิศและพ่ายให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์รวม 2 นัด 6-1 อย่างไรก็ตามเขาก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล สมัยที่ 5 ด้วยการโชว์ฟอร์มหรูไล่ถล่ม ดุ๊ยส์บวร์ก ในนัดชิง 5-0

2012 – แต่หลังจากเริ่มฤดูกาล 2011-12 ไปได้ไม่นาน รังนิก ก็ตัดสินใจลาออกด้วยสาเหตุส่วนตัว จนทำให้สโมสรกลับไปทาบทาม ฮูบ สตีเฟ่นส์ ให้เข้ามารับงานอีกครั้ง ก่อนที่ทีมจะเข้าป้ายในอันดับที่ 3 และคว้าสิทธิ์ไปลงเตะใน UCL รอบแบ่งกลุ่มโดยอัตโนมัติ

2013 – ชาลเก้ เริ่มต้นซีซั่น 2012-13 ได้อย่างน่าประทับใจ โดยรั้งตำแหน่งรองจ่าฝูงได้ภายในเดือนพฤศจิกายน โดยที่ก่อนหน้านั้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคมก็พึ่งบุกไปสยบ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมคู่อริ 2-1 และกลายเป็นชัยชนะในศึก เรเวียร์ดาร์บี้ ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2010 จนกระทั่งมาคว้าโควตา แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้สำเร็จจากการจบฤดูกาลในอันดับที่ 4

2014 – ในช่วงก่อนออกสตาร์ทฤดูกาล 2013-14 ทีมเสริมทัพได้อย่างน่าสนใจด้วยการดึงตัว เควิน-พรินซ์ บัวเต็ง มาจาก เอซี มิลาน ในขณะที่ผู้เล่นคีย์แมนอย่าง ฮุนเตล่าร์ และ เจฟเฟอร์สัน ฟาร์ฟาน ก็มีอาการบาดเจ็บคอยตามรบกวนอยู่เป็นระยะจนทำให้ทีมจบครึ่งซีซั่นแรกด้วยอันดับที่ 7 ก่อนที่ เยนส์ เคลเลอร์ กุนซือชาวเยอรมันจะสร้างผลงานในช่วงครึ่งหลังที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร ท่ามกลางความโดดเด่นของขุมกำลังดาวรุ่งที่นำโดย ยูเลี่ยน ดรักซ์เลอร์, มักซ์ เมเยอร์, เซอัด โคลาซินัช และ ลีออน โกเรทซ์ก้า จนสามารถเก็บชัยชนะได้ 11 ครั้งจาก 17 เกมในช่วงครึ่งซีซั่นหลังจนคว้าอันดับที่ 3 มาครองได้

2015 – หลังการพ่ายแพ้นอกบ้านให้กับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ 2-1 และเก็บได้เพียง 8 คะแนนจาก 7 นัดแรกก็ทำให้สโมสรตัดสินใจแยกทางกับ เคลเลอร์ และได้ตัว โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ เข้ามาคุมทีมต่อไปจนจบฤดูกาลที่เขาสามารถพาทีมไต่กลับมาอยู่ในอันดับที่ 6 ได้

2017 – ทีมเริ่มต้นฤดูกาล 2016-17 ด้วยการพ่ายแพ้ 5 นัดรวดจนจมอยู่ก้นตาราง แต่ก็ค่อยๆทำผลงานกระเตื้องขึ้นและพาตัวเองจบในอันดับที่ 10 ในขณะที่ผลงานในยุโรปกลับทำได้ดีกว่าจากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในรายการ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ก่อนจะจอดป้ายด้วยน้ำมือของ อาแจ็กซ์

2018 – แม้ บาเยิร์น จะโชว์ฟอร์มโหดด้วยการสร้างสถิติคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา เป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกันได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน แต่ ราชันสีน้ำเงิน ก็กลายเป็นทีมที่ดีที่สุดอันดับ 2 เมื่อทำแต้มไล่หลังมาแบบไกลลิบ 21 คะแนน แต่ก็ยังคงทิ้งห่าง ฮอฟเฟ่นไฮม์ ทีมอันดับ 3 อยู่ถึง 8 คะแนน ในขณะที่ผลงานในบอลถ้วย เยอรมัน คัพ ก็ไปได้ไกลจนถึงรอบตัดเชือกก่อนจะอดเข้าชิงจากการพ่ายแพ้ต่อ ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต ทีมที่สามารถคว้าแชมป์ได้ในภายหลังจากการเอาชนะ บาเยิร์น 3-1

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

จำนวนผู้สนับสนุนของ ชาลเก้ ถีบตัวขึ้นสูงจาก 10,000 คนในปี 1991 ไปเป็น 155,000 ในปี 2018 จนทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ เยอรมัน และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกในแง่จำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียน รองจาก บาเยิร์น มิวนิค, สปอร์ติ้ง ลิสบอน และ เบนฟิก้า ที่เป็นอันดับ 1 ปัจจุบันพวกเขารั้งอยู่ในอันดับที่ 20 จากการจัดอันดับทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดของ ยูฟ่า มีข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกของทีมในปี 2014 ระบุไว้ว่า มีสมาชิกผู้หญิงอยู่ในสัดส่วน 20% และแฟนคลับรุ่นเยาว์ที่มีอายุไม่เกิน 10 ขวบมากถึง 14% นอกจากนี้ 30% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดไม่ได้อยู่รัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย ซึ่งนอกเหนือจากกองเชียร์ที่อาศัยอยู่ใน เกลเซนเคียร์เช่น และละแวกใกล้เคียงแล้ว ยังมีสมาชิกของทีมที่มาจาก โคโลญจน์, เบอร์ลิน และ ดอร์ทมุนด์ และอีกหนึ่งสาเหตุที่สโมสรมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นก็น่าจะมาจากการลงโฆษณาโปรโมททีมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2013

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือทีมคู่ปรับหมายเลข 1 ของ ชาลเก้

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือทีมคู่ปรับหมายเลข 1 ของ ชาลเก้ ในการพบกันของทั้ง 2 ทีมจะมีชื่อเรียกว่า เรเวียร์ดาร์บี้ หรือ รูห์ร ดาร์บี้ ตามชื่อแคว้นที่ทั้งสองฝ่ายตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างจำกัดจึงทำให้ระยะห่างระหว่างสโมสรต่างๆอาจอยู่เพียงแค่ราว 30 กม. ดังนั้นกองเชียร์ของทีมที่อยู่ในพื้นที่แถบนั้นก็มักจะพบเห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน อันที่จริงแล้ว โบคุ่ม และ ดุ๊ยส์บวร์ก ก็เป็นอีก 2 ทีมที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ แต่หากต้องพูดถึง เรเวียร์ดาร์บี้ แล้วผู้คนส่วนใหญ่ก็จะมองไปที่การเผชิญหน้ากันของ ชาลเก้ และ ดอร์ทมุนด์ ที่มีองค์ประกอบพร้อมสรรพทั้งในด้านจำนวนผู้สนับสนุนและความสำเร็จ และสำหรับแฟนคลับบางคนการคว้าชัยชนะในเกมดาร์บี้กลับมีความสำคัญมากกว่าการที่ทีมจะเป็นแชมป์เสียอีก