พลิกประวัติ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ แกะเขาเหล็กแห่งมิดแลนด์ส

พลิกประวัติ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ แกะเขาเหล็กแห่งมิดแลนด์ส

สโมสรฟุตบอลดาร์บี้เคาน์ตี้ (Derby County Football Club) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม ดาร์บี้ เคาน์ตี้ คือทีมฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน เมืองดาร์บี้ มณฑลดาร์บีเชียร์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันลงเตะอยู่ใน อีเอฟแอล แชมเปี้ยนชิพ ลีกลำดับที่ 2 ของอังกฤษ ทีมเจ้าของฉายา “เดอะ แรมส์” (The Rams) หรือ “แกะเขาเหล็ก” ในบ้านเรา เป็นหนึ่ง 1 ใน 12 สโมสรผู้ร่วมก่อตั้งฟุตบอลลีกขึ้นมาในปี 1888 และยังเป็น 1 ใน 10 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในระบบฟุตบอลลีกมาตลอดทุกฤดูกาล ในปี 2009 พวกเขาถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 137 จาก 200 ทีมระดับท็อปของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 20 จาก สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFFHS) จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1884 โดย วิลเลี่ยม มอร์ลี่ย์ ที่ต้องการสร้างสาขาย่อยให้กับ สโมสรคริกเก็ตแห่งดาร์บีเชียร์ (Derbyshire County Cricket Club) หลังจากนั้นทีมใช้เวลาเกือบทั้งหมดยกเว้นเพียงแค่ 4 ฤดูกาลลงเล่นอยู่ในลีกสูงสุด 2 ลำดับแรกของประเทศ

จุดพีคของ ดาร์บี้ อยู่ในช่วงยุคปี 70 จากการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ 2 ครั้ง และได้เข้าร่วมแข่งขันในบอลถ้วยยุโรปรายการระดับเมเจอร์ 4 ครั้ง ที่รวมถึงการผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศใน ยูโรเปี้ยน คัพ และยังเคยได้ชูถ้วย เอฟเอ คัพ หนึ่งครั้งหลังจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงหมาดๆ แกะเขาเหล็ก ใช้สนามเหย้า ไพรด์ พาร์ค สเตเดี้ยม มาตั้งแต่ปี 1997 ที่ล่าสุดรองรับความจุ 33,597 ที่นั่ง สีดำและขาวคือสีประจำสโมสรที่ถูกใช้งานมาตั้งแต่หลังปี 1890 พวกเขาหันมาใช้ฉายา เดอะ แรมส์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการก่อตั้งกองกำลัง Derby Militia ที่เลือกใช้ แกะ เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยเช่นเดียวกัน

จุดพีคของ ดาร์บี้ อยู่ในช่วงยุคปี 70 จากการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1884 – สโมสรถูกก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเหล่าสมาชิกของ Derbyshire County Cricket Club ที่จะได้ร่วมกิจกรรมกันในช่วงฤดูหนาวและรวมถึงการเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่ม เดิมทีพวกเขาตั้งใจจะใช้ชื่อว่า “Derbyshire County F.C.” หากแต่ด้วยชื่อที่ยาวจนเกินไปและอาจมีผู้ที่สับสนกับ Derbyshire FA ที่พึ่งเปิดตัวขึ้นมาในปีก่อนหน้านั้น จึงทำให้ความคิดนี้ตกไป ก่อนที่ทีมจะมีโอกาสลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรายการ เอฟเอ คัพ ตอนช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนั้นด้วยการพ่ายแพ้คารัง เรซคอร์ส กราวนด์ ให้กับ วอลซอลล์ ทาวน์ 7-0

1885 – จากการโคจรมาพบกับ แอสตัน วิลล่า ในเกม เอฟเอ คัพ รอบ 2 ฤดูกาลถัดมา พวกเขาก็เริ่มกลายเป็นที่รู้จักกันในทันทีหลังสามารถสยบคู่แข่งที่ก้าวขึ้นมาเป็นขาใหญ่ของวงการลูกหนังได้ในขณะนั้นด้วยสกอร์ 2-0 ก่อนจะจอดป้ายในรอบต่อมาด้วยการบุกไปพ่ายให้กับ เบอร์มิ่งแฮม ซิตี้ 4-2

1888 – และแล้ว ดาร์บี้ ก็ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมในการสถาปนาฟุตบอลลีกภายในอังกฤษ และลงเตะแมตช์แรกในซีซั่นแกรนด์โอเพ่นนิ่งด้วยการบุกไปรัวแซง โบลตัน วันเดอเรอร์ส 6-3 จากที่เป็นฝ่ายตามหลัง 3-0 ในทีแรก ก่อนจะจบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 10 จากทั้งหมด 12 ทีม

1891 – พวกเขาจัดการควบรวม Derby Midland F.C. หนึ่งในทีมที่ยังลงเตะอยู่ใน มิดแลนด์ ลีก เข้าด้วยกัน จนทำให้พวกเขามีสถานะเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพเพียงหนึ่งเดียวของเมือง

1892 – สตีฟ บลูมเมอร์ ตำนานแข้งตลอดกาลของสโมสรเจ้าของสถิติ 291 ประตูจาก 473 เกม เซ็นสัญญาร่วมทีมเป็นครั้งแรกภายในปีนั้น

1895 – สโมสรย้ายเข้าสู่สนามแห่งใหม่ เบสบอล กราวนด์ ที่เคยถูกใช้งานในการแข่งขันเบสบอลมาก่อน และปักหลักอยู่ที่นั่นยาวนานร่วม 102 ปี พร้อมๆกับการเริ่มใช้สีขาวดำสำหรับชุดแข่งเหย้า

สโมสรย้ายเข้าสู่สนามแห่งใหม่ เบสบอล กราวนด์

1896 – แกะเขาเหล็ก ใกล้เคียงกับการสัมผัสแชมป์ลีกเป็นครั้งหลังเข้าป้ายเป็นที่ 2 รองจาก แอสตัน วิลล่า ในฤดูกาล 1895-96 โดยมีแต้มตามหลังทีมแชมป์อยู่ 4 คะแนน

1898 – หลังยังคงรักษาผลงานด้วยการจบในอันดับที่ 3 ได้ในปีที่ผ่านมา ทีมกลับตกลงไปอยู่ในพื้นที่ครึ่งล่างของตารางในซีซั่น 1897-98 แต่ก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ก่อนจะไปพ่ายให้กับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ 3-1 โดยที่ บลูมเมอร์ คือผู้ยิงประตูตีไข่แตกให้กับทีม

1899 – ทีมผ่านเข้าไปชิงถ้วย เอฟเอ คัพ เป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่ก็ต้องอกหักซ้ำสองเมื่อถูก เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ถล่มราบคาบ 4-1

1903 – ผลงานส่วนใหญ่ของ เดอะ แรมส์ ในช่วงที่ผ่านมาคือการป้วนเปี้ยนอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่กลางตาราง จนกระทั่งมีโอกาสเข้าชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ อีกครั้งในปีนั้น ก่อนจะพ่ายแพ้ยับเยินให้กับ บิวรี่ 6-0

1906 – จากสถานการณ์ทางการเงินที่ล่อแหลม สโมสรจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการปล่อยตัว สตีฟ บลูมเมอร์ ให้กับ มิดเดิ้ลสโบรช์ หลังจบฤดูกาล 1905-06

1907 – การขาดดาวยิงตัวเก่งก็ส่งผลกระทบให้ฟอร์มของพวกเขาดร็อปลงอย่างน่าใจหาย จนกระทั่งจมอยู่ในอันดับรองบ๊วยและร่วงตกชั้นลงไปในซีซั่นต่อมา

1912 – แต่ด้วยความพยายามของ จิมมี่ เมธเว่นส์ ที่ก้าวเข้ามาคุมทีมหลังตกชั้น พร้อมกับการดึงตัว สตีฟ บลูมเมอร์ กลับสู่ทีมอีกครั้งเมื่อ 2 ปีก่อนก็ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 เป็นครั้งแรก และกลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศ

จิมมี่ เมธเว่นส์ ที่ก้าวเข้ามาคุมทีมหลังตกชั้น

1914 – แม้จะถีบตัวเองขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 7 หลังเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ในปีแรก แต่จู่ๆในฤดูกาลถัดมาพวกเขากลับโชว์ฟอร์มกันไม่ออกและร่วงตกชั้นลงไปอีกครั้งจากการจมอยู่ท้ายตาราง พร้อมกับการอำลาอาชีพนักเตะของ บลูมเมอร์

1915 – แต่คราวนี้พวกเขาใช้เวลาไม่นานก็สามารถกลับขึ้นมาได้ในฐานะแชมป์ ดิวิชั่น 2 ก่อนที่ประเทศจะก้าวเข้าสู่ภาวะ สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นไม่นาน

1920 – ภายในซีซั่นแรกหลังจากฟุตบอลลีกเริ่มกลับมาฟาดแข้งกันอีกครั้ง ดาร์บี้ ก็ประคองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยใน ดิวิชั่น 1 ได้ต่อไปจากการอยู่ในอันดับที่ 5 นับจากท้าย

1921 – แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไปไม่รอดหลังจากตกลงไปอยู่ในอันดับรองบ๊วยเมื่อตอนสิ้นสุดฤดูกาล 1920-21

1924 – ทีมมีลุ้นเลื่อนชั้นเป็นครั้งแรกจากการจบที่ 51 คะแนนเท่ากับ บิวรี่ และเป็นรองพียงแค่ ลีดส์ ยูไนเต็ด ทีมแชมป์เท่านั้น ทั้งๆที่พวกเขามีประตูได้เสียที่ดีกว่าแต่ในช่วงเวลานั้น สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ใช้ค่า goal ratio (ประตูได้/ประตูเสีย) จึงทำให้ บิวรี่ ได้รับโอกาสกลับขึ้นไปแทน

1926 – จนกระทั่งการแต่งตั้ง จอร์จ โจบี้ ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1925-26 ที่ทำให้ แกะเขาเหล็ก สามารถกลับคืนสู่ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ หลังเข้าป้ายเป็นที่สองรองจาก เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์

1930 – ภายใต้การคุมทีมของ โจบี้ ก็ทำให้ เดอะ แรมส์ กลับมาเป็นทีมที่โชว์ฟอร์มได้อย่างน่าประทับใจอีกครั้ง จนรั้งอยู่ในอันดับที่ 2 รองจาก เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ในซีซั่น 1929-30

1936 – เป็นอีกครั้งที่ทีมสามารถจบในอันดับที่ 2 เมื่อเก็บแต้มได้เท่ากับ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ แต่มีประตูได้เสียที่ดีกว่า โดยมีแต้มตามหลัง ซันเดอร์แลนด์ ทีมแชมป์อยู่ 8 คะแนน

1939 – ในขณะที่ออกสตาร์ทฤดูกาล 1939-40 ไปเพียงแค่ 3 เกม และทีมเก็บได้ 4 คะแนนจากการชนะ 2 แพ้ 1 ฟุตบอลลีกทั่วทั้งประเทศก็ต้องปิดฉากลง หลัง เยอรมนี กรีฑาทัพบุกเข้าสู่ โปแลนด์ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามโลกครั้งที่ 2

1946 – หลังสงครามสิ้นสุดลงแม้จะยังไม่มีการกลับมาลงเตะกันในเกมลีก แต่ทางสมาคมก็ตัดสินใจเริ่มต้นด้วยการแข่งขัน เอฟเอ คัพ ในซีซั่น 1945-46 ซึ่ง เดอะ แรมส์ ก็สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมก่อนจะผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับ ชาร์ลตัน แอธเลติก และคราวนี้พวกเขาก็เป็นฝ่ายสมหวังหลังจากถล่มคู่แข่งยับเยิน 4-1 ที่ เวมบลีย์ จนได้ฉลองโทรฟี่ระดับเมเจอร์ใบแรกของสโมสร

1947 – หลังว่างเว้นการแข่งขันไปเป็นระยะเวลาร่วม 7 ปี ฟุตบอลลีก ก็กลับมาเปิดฉากขึ้นออกครั้งในฤดูกาล 1946-47 โดยที่ทีมอยู่ในอันดับที่ 14 จากการมีคะแนนเท่ากับ พอร์ทสมัธ และ อาร์เซน่อล แต่เป็นรองที่ลูกได้เสีย

1949 – พวกเขาค่อยๆพัฒนาฟอร์มขึ้นมาจนสามารถจอดป้ายในอันดับที่ 3 โดยมีคะแนนเท่ากับ แมนฯ ยูไนเต็ด แต่เป็นรองที่ลูกได้เสีย และมีแต้มตามหลัง พอร์ทสมัธ ทีมแชมป์อยู่ 5 คะแนน

1953 – แต่หลังจากนั้นผลงานของทีมก็เริ่มดร็อปลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมาจมอยู่ท้ายตารางหลังจบฤดูกาล 1952-53 และร่วงลงไปยัง ดิวิชั่น 2 พร้อมๆกับ สโต๊ค ซิตี้

1955 – สถานการณ์ของ ดาร์บี้ ยังไม่กระเตื้องขึ้น หลังจมลงไปอยู่ก้นตารางจากผลงานที่เอาชนะในเกมนอกบ้านได้เพียงแค่ครั้งเดียวจนร่วงตกชั้นลงสู่ ดิวิชั่น 3

1956 – ภายในซีซั่นแรกที่ลงเตะอยู่ใน ดิวิชั่น 3 โซนทางเหนือ พวกเขาสามารถเข้าป้ายเป็นที่สองรองจาก กริมสบี้ ทาวน์ แต่ก็หมดสิทธิ์เลื่อนชั้นเพราะมีเพียงทีมแชมป์จากลีกทางตอนเหนือและใต้เท่านั้นที่จะได้ขยับขึ้นไป

1957 – และแล้ว แกะเขาเหล็ก ก็เลื่อนชั้นกลับสู่ ดิวิชั่น 2 ได้สำเร็จ หลังคว้าแชมป์ลีกทางตอนเหนือโดยทำแต้มได้มากกว่า ฮาร์เทิลพูลส์ ยูไนเต็ด 4 คะแนน

1967 – พวกเขาใช้เวลา 10 ปีอยู่ใน ดิวิชั่น 2 ด้วยอันดับที่สวิงขึ้นๆลงๆจากผลงานที่ดีที่สุดในการได้ที่ 7 และแย่สุดด้วยการอยู่ในอันดับที่ 18 ในขณะที่ฤดูกาลล่าสุดก็จบด้วยอันดับที่ 17 ก่อนที่ ไบรอัน คลัฟ และ ปีเตอร์ เทย์เลอร์ มือขวาของเขาจะก้าวเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนให้กับทีมในช่วงซัมเมอร์ปีนั้น

1969 – หลังใช้เวลาลองผิดลองถูกและเริ่มต้นสร้างทีมใหม่ของตนเองที่รวมถึงการเซ็นสัญญากับ อลัน ฮินตัน ปีกซ้ายดีกรีทีมชาติอังกฤษ อีกทั้ง จอห์น โอแฮร์ และ เดฟ แม็คเคย์ 2 ดาวเตะชาวสกอต ในที่สุด คลัฟ ก็ช่วยพลิกโฉมหน้าจากทีมที่เคยจบในอันดับที่ 18 ในปีที่ผ่านมาจนก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 พร้อมโอกาสหวนกลับคืนสู่สังเวียนแข้งระดับสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี

1970 – คลัฟ สร้างผลงานในซีซั่นแรกของการกลับคืนสู่ ดิวิชั่น 1 ได้อย่างน่าประทับใจด้วยการพาทีมจบในอันดับที่ 4

1972 – ในที่สุดแชมป์ที่สาวก เดอะ แรมส์ ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อ คลัฟ สามารถพาลูกทีมโกยแต้มเบียดตีคู่มากับ ลีดส์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ซิตี้ ก่อนจะปาดหน้าคว้าถ้วย ดิวิชั่น 1 มาครองได้สำเร็จจากคะแนนที่มากกว่าคู่แข่งเหล่านั้นเพียงแค่แต้มเดียว พร้อมโอกาสลงเตะในถ้วยยุโรปเป็นครั้งแรกในซีซั่นหน้า

1973 – ทีมทำผลงานในฤดูกาลป้องกันแชมป์ได้ไม่ดีเท่าไรนักจากการจบในอันดับที่ 7 ซึ่งสวนทางกับผลงานในระดับทวีปที่ไปได้ไกลจนถึงรอบรองชนะเลิศในรายการ ยูโรเปี้ยน คัพ จากการบุกไปเยือนที่ ตูริน และพ่ายให้กับ ยูเวนตุส 3-1 ก่อนจะกลับมาทำได้แค่เสมอ 0-0 ที่ เบสบอล กราวนด์ โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา คลัฟ มักจะเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆทั้งในและนอกสโมสรแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมรวมถึงการกระทำที่ข้ามหน้าข้ามตาบอร์ดบริหารที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายๆครั้ง จนในที่สุดทั้งตัวเขาและ ปีเตอร์ เทย์เลอร์ ก็ตัดสินใจลาออกในเดือนตุลาคมปีนั้น ท่ามกลางความไม่พอใจของแฟนๆที่มีต่อเหล่าผู้บริหาร

1974 – ภายใต้การคุมทีมของ เดฟ แม็คเคย์ อดีตผู้เล่นที่เข้ามาเสียบแทน ไบรอัน คลัฟ เจ้านายเก่าของเขาในช่วงต้นฤดูกาล 1973-74 ก็ช่วยให้ทีมกลับมาทำผลงานในลีกได้ดีขึ้นจากการเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 3 โดยที่ เควิน เฮคเตอร์ ดาวยิงตัวเก่งติดอยู่ในลิสต์ดาวซัลโวที่ 19 ประตูและเป็นรองเพียงแค่ แฟรงค์ เวิร์ทธิงตัน ของ เลสเตอร์ ซิตี้ และ มิก แชนน่อน ของ เซาแธมป์ตัน

1975 – แม้ แม็คเคย์ จะพา ดาร์บี้ ไปได้ไกลเพียงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในถ้วย ยูฟ่า คัพ หลังถูก เวเลซ โมสตาร์ ทีมจากบอสเนียเขี่ยตกรอบ แต่เขากลับนำลูกทีมโชว์ฟอร์มในลีกได้อย่างยอดเยี่ยมจนกระทั่งเบียดแซงหน้า ลิเวอร์พูล, อิปสวิช ทาวน์ และ เอฟเวอร์ตัน ขึ้นไปคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 ได้เป็นสมัยที่ 2 และยังสามารถครองถาด แชริตี้ ชิลด์ ได้จากการสยบ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 2-0 ในช่วงก่อนออกสตาร์ทซีซั่นถัดไป

1976 – พวกเขาทำผลงานในฤดูกาลป้องกันแชมป์ได้ไม่เลวนักจากการจอดป้ายในอันดับที่ 4 และไปได้ไกลจนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในถ้วย ยูโรเปี้ยน คัพ หลังถล่ม เรอัล มาดริด ในบ้านได้ 4-1 แต่ก็กลับไปพ่ายแพ้ที่ ซานติอาโก เบร์นาเบว 5-1 จนตกรอบไปแบบฉิวเฉียดด้วยผลรวม 6-5

1977 – หลังออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ได้อย่างย่ำแย่ เดฟ แม็คเคย์ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ก่อนที่ โคลิน เมอร์ฟี่ จะเข้ามารับไม้ต่อและพาทีมจบซีซั่น 1976-77 ด้วยอันดับที่ 15

1980 – แม้ในช่วงที่ผ่านมาสโมสรจะลงมือทาบทาม ทอมมี่ โดเชอร์ตี้ อดีตกุนซือ แมนฯ ยูไนเต็ด ให้เข้ามารับตำแหน่ง แต่ผลงานของพวกเขาก็ไม่กระเตื้องขึ้น จนกระทั่งการตัดสินใจลาออกของเจ้าตัวที่ทำได้เพียงพาทีมรอดตกชั้นแบบหวุดหวิดในปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วทีมก็ตกชั้นลงไปหลังจบฤดูกาล 1979-80 ด้วยอันดับรองบ๊วย

1983 – ท่ามกลางปัญหาหนี้สินพะรุงพะรังและจำนวนผู้ชมที่ค่อยๆลดน้อยถอยลงจากฟอร์มในสนามที่กำลังดิ่งลงเหว จู่ๆ ปีเตอร์ เทย์เลอร์ อดีตมือขวาของ ไบรอัน คลัฟ ก็หวนกลับมารับตำแหน่งเฮดโค้ชอย่างเต็มตัวในเดือนพฤศจิกายน 1982 และช่วยให้ทีมสร้างสถิติไร้พ่าย 15 นัดจนลอยตัวอยู่เหนือโซนตกชั้นหลังจบซีซั่น 1982-83 ในที่สุด

1984 – แต่ในฤดูกาลถัดมา เทย์เลอร์ กลับไม่สามารรีดฟอร์มเก่งของลูกทีมเหมือนในช่วงท้ายซีซั่นที่แล้ว ก่อนจะลาออกไปในช่วงเดือนเมษายนในขณะที่ทีมอยู่ในอันดับที่ 3 จากท้ายตาราง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แกะเขาเหล็ก ก็สลัดตำแหน่งนั้นไม่พ้นและร่วงตกชั้นลงสู่ ดิวิชั่น 3 แต่โชคยังดีที่ทีมยังสะสางหนี้สินไปได้เปลาะหนึ่งด้วยเงินรางวัลที่ได้รับจากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในรายการ เอฟเอ คัพ

1986 – ภายใต้การวางแผนของ อาร์เธอร์ ค็อกซ์ ที่เริ่มออกสตาร์ทการทำงานตั้งแต่ที่ทีมลงมาอยู่ใน ดิวิชั่น 3 ก็สามารถพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาได้สำเร็จในปีที่ 2 จากการคว้าอันดับที่ 3 รองจาก พลีมัธ อาร์ไกล์ และ เรดดิ้ง ทีมแชมป์

1987 – ค็อกซ์ ยังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการพา เดอะ แรมส์ ทะยานกลับขึ้นสู่ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จภายในซีซั่นต่อมา ด้วยการคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 เป็นสมัยที่ 4 ของสโมสร

1989 – หลังประคองตัวเองจนจบในอันดับที่ 15 ในปีที่ผ่านมา พวกเขาก็เริ่มเดินหน้าไปในทิศทางบวกทั้งจากแฟนบอลที่กำลังหลั่งไหลกลับคืนมาพร้อมจัดการปัญหาหนี้สินได้อย่างลงตัว และแล้วทีมที่นำโดยขุมกำลังหลักอย่าง ปีเตอร์ ชิลตัน, มาร์ค ไรท์ และ ดีน ซอนเดอร์ส ก็สามารถขยับขึ้นไปรั้งอยู่ในอันดับที่ 5 หลังจบฤดูกาล 1988-89

1991 – แต่จากการบริการงานที่ขาดความต่อเนื่องของผู้บริหารก็ทำให้ทีมเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะขัดสน จนทำให้ผลงานตกต่ำลงอย่างน่าใจหายและร่วงตกชั้นลงไปอีกครั้งด้วยการเป็นทีมบ๊วยของตาราง

1992 – พวกเขามีโอกาสเลื่อนชั้นภายในปีแรกจากการได้อันดับที่ 3 จนได้ไปลุ้นต่อในเกมเพลย์ออฟรอบตัดเชือกและพ่ายให้กับ แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ที่กลายเป็นทีมที่ผ่านขึ้นไปได้ในท้ายที่สุด ก่อนที่พวกเขาจะมาเอาชนะ แบล็กเบิร์น ในการแย่งตัว เคร็ก ชอร์ต กองหลังชาวอังกฤษผู้ย้ายเข้ามาด้วยค่าตัว 2.5 ล้านปอนด์ที่กลายเป็นค่าตัวแพงสุดของผู้เล่นที่อยู่นอกลีกสูงสุด

1993 – มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในฟุตบอลลีก พร้อมกับการเปิดตัว พรีเมียร์ลีก ในฐานะลีกสูงสุดของประเทศ ในขณะที่ ดิวิชั่น 2 เดิมก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ดิวิชั่น 1 โดยที่พวกเขาจบฤดูกาลแรกใน ดิวิชั่น 1 ยุคใหม่ด้วยอันดับที่ 8

1994 – ทีมมีโอกาสลุ้นเลื่อนชั้นอีกครั้งหลังเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 5 โดยหลังจากผ่าน มิลล์วอลล์ ในเกมเพลย์ออฟรอบรองชนะเลิศมาได้ พวกเขากลับไปพ่ายให้กับ เลสเตอร์ ซิตี้ 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ หลังถูก สตีฟ วอลช์ กัปตันทีมจิ้งจอกยิงประตูชัยในนาทีที่ 87

1996 – สโมสรประกาศแต่งตั้ง จิม สมิธ ขึ้นมารับตำแหน่งกุนซือและ สตีฟ แม็คลาเรน ที่เป็นผู้ช่วยในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1995-96 พร้อมกับการเซ็นสัญญาที่คุ้มค่าอย่าง อิกอร์ สติมัช ปราการหลังชาวโครแอต ก็ทำให้ดาร์บี้ ได้โอกาสกลับขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศใน พรีเมียร์ลีก ดังที่หวัง หลังคว้าอันดับที่ 2 รองจาก ซันเดอร์แลนด์ ที่มีแต้มห่างกันอยู่ 4 คะแนน

สโมสรประกาศแต่งตั้ง จิม สมิธ ขึ้นมารับตำแหน่งกุนซือ

1997 – หลังพาตัวเองอยู่รอดปลอดภัยในซีซั่นประเดิม พรีเมียร์ลีก ด้วยการได้อันดับที่ 12 สโมสรก็ประกาศย้ายออกจาก เบสบอล กราวนด์ ที่ใช้งานมายาวนานร่วม 102 ปี เพื่อเข้าสู่สนามเหย้าแห่งใหม่ ไพรด์ พาร์ค สเตเดี้ยม ในช่วงออกสตาร์ทซีซั่นหน้า พร้อมกับการเสริมทัพในช่วงซัมเมอร์ด้วยการดึงตัว เปาโล วันโชเป้ ดาวยิงชาวคอสตาริกา และ สเตฟาโน่ เอรานิโอ มิดฟิลด์ทีมชาติอิตาลี

2001 – หลังย้ายเข้าสู่บ้านใหม่แม้พวกเขาจะสามารถประคองตัวเองให้อยู่ในครึ่งบนของตารางได้ 2 ซีซั่นติดต่อกัน แต่หลังจากนั้นทีมก็เริ่มทำผลงานดร็อปลงซึ่งรวมถึงการจบฤดูกาล 2000-01 ในอันดับที่ 17 ติดๆกับ แมนฯ ซิตี้ ที่ตกชั้นลงไป

2002 – หลังพาทีมดิ้นรนหนีตายมาตลอด 3 ปีหลังสุด ในที่สุด จิม สมิธ ก็ตัดสินใจลาออกในช่วงเดือนตุลาคม 2001 โดยที่ โคลิน ท็อดด์ คือผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อ แต่ก็อยู่ได้เพียงแค่ 3 เดือนก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น จอห์น เกรกอรี่ ที่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยให้ทีมหลุดพ้นจากอันดับรองบ๊วยไปได้ ซึ่งภายหลังการตกชั้นทีมก็อยู่ในสภาวะวิกฤติทางด้านการเงินอีกครั้งจนต้องทะยอยขายผู้เล่นคนสำคัญออกไป

2003 – หลังลงมาตั้งต้นใหม่ใน ดิวิชั่น 1 ด้วยการจบในอันดับที่ 18 ก็มีคำสั่งจากศาลให้สโมสรอยู่ในการพิทักษ์ทรัพย์สิน ก่อนจะถูกขายทอดตลาดในช่วงเดือนตุลาคมให้กับ เจเรมี่ คีธ อดีตผอ.ของ พอร์ทสมัธ ในราคา 3 ล้านปอนด์

2005 – แกะเขาเหล็ก กลับมาโชว์ฟอร์มได้ดีขึ้นผิดหูผิดตาภายในซีซั่นแรกของการรีแบรนด์ฟุตบอลลีกที่เปลี่ยนชื่อ ดิวิชั่น 1 ไปเป็น ลีกแชมเปี้ยนชิพ จากการเข้าป้ายในอันดับที่ 4 จนได้ไปลุ้นต่อในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้น แต่ก็ต้องสะดุดตั้งแต่รอบรองชนะเลิศหลังพ่ายให้กับ เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ ด้วยสกอร์รวม 2-0

2006 – ในช่วงปลายฤดูกาล 2005-06 กลุ่มกิจการค้าร่วมที่นำโดย ปีเตอร์ แกดสบี้ นักธุรกิจชาวท้องถิ่นก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรรายใหม่ พร้อมกับช่วยหักลบหนี้จนนำสนาม ไพรด์ พาร์ค สเตเดี้ยม กลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของทีมได้อีกครั้ง ก่อนจะประกาศแต่งตั้ง บิลลี่ เดวี่ส์ เข้ามาเป็นผจก.ทีมคนใหม่ในซีซั่นหน้า

2007 – และแล้วภายในซีซั่นเปิดตัวของ เดวี่ส์ เขาก็สามารถพาทีมจบในอันดับที่ 3 พร้อมคว้าสิทธิ์ไปลงเตะในเกมเพลย์ออฟ ซึ่งหลังจากผ่าน เซาแธมป์ตัน มาได้ในรอบตัดเชือก ก็ต้องไปดวลกับ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ในนัดชี้ชะตาที่ เวมบลีย์ และจากประตูโทนในนาทีที่ 61 ของ สตีเฟ่น เพียร์สัน ก็ทำให้ เดอะ แรมส์ ทะยานกลับคืนสู่ พรีเมียร์ลีก ได้อีกครั้งพร้อมกับเงินอัดฉีดที่หลั่งไหลเข้ามาราว 60 ล้านปอนด์

2008 – หลังจากสะกดคำว่าชนะไม่เป็นตลอด 5 เกมแรก พวกเขามาเก็บ 3 คะแนนแรกได้จากการเอาชนะ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ในช่วงกลางเดือนกันยายน ในเดือนต่อมา ปีเตอร์ แกดสบี้ ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งประธานสโมสรและประกาศแต่งตั้ง อดัม เพียร์สัน ขึ้นมาทำหน้าที่แทน หลังการออกสตาร์ทที่ย่ำแย่ บิลลี่ เดวี่ส์ ก็ถูกปลดออกไปในเดือนพฤศจิกายน และได้ตัว พอล จีเวลล์ เข้ามาเสียบแทน จนกระทั่งเดือนมกราคม 2008 สโมสรก็ถูกเทคโอเวอร์โดยกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่นำโดย General Sports and Entertainment โดยให้ เพียร์สัน ยังคงดำรงตำแหน่งประธานต่อไป ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ไม่สามารถรอดพ้นจากการตกชั้นด้วยสถิติอันเลวร้ายที่สุดจากการปิดฉากรูดม่านตั้งแต่เดือนมีนาคมและยังสร้างสถิติเก็บแต้มได้น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก รวมถึงทำสถิติในรอบ 108 ปีของฟุตบอลลีกในการเก็บชัยชนะได้เพียงแค่ครั้งเดียวตลอดทั้งซีซั่นเทียบเท่ากับ ลาฟโบโร่ ที่เคยตกชั้นจาก ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1899-1900

2009 – ช่วงต้นซีซั่น 2008-09 ในเกมที่เปิดบ้านต้อนรับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ตอนกลางเดือนกันยายน 2008 สื่อทั้งหลายต่างให้ความสนใจในเกมนี้เนื่องจากใกล้จะถึงวันครบรอบ 1 ปีหลังจากหนสุดท้ายที่ ดาร์บี้ เอาชนะในเกมลีก พร้อมทำลายสถิติเอาชนะใครในลีกไม่ได้เลยยาวนานที่สุดโดยคิดตามจำนวนแมตช์ จนกระทั่งประตูชัยในช่วงครึ่งหลังของ ร็อบ ฮัลส์ ที่ยิงใส่ต้นสังกัดเก่าก็ทำให้ทีมเจ้าถิ่นเก็บ 3 คะแนนเต็มได้ด้วยสกอร์ 2-1 พร้อมกับเป็นชัยชนะครั้งแรกของ พอล จีเวลล์ ที่ผ่านการคุมทีมมาแล้วถึง 27 นัด แม้จะสามารถพาทีมผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศในรายการ ลีก คัพ ที่สุดท้ายก็ต้องตกรอบด้วยน้ำมือของ แมนฯ ยูไนเต็ด แต่เขาก็ตัดสินใจลาออกในช่วงเดือนธันวาคม 2008 หลังพาทีมเก็บชัยชนะได้เพียง 2 ครั้งจาก 11 เกมที่ผ่านมา และก็เป็น ไนเจล คลัฟ ลูกชายของ ไบรอัน คลัฟ อดีตตำนานกุนซือของทีมที่เข้ามารับไม้ต่อและพาทีมประคองตัวจนจบในอันดับที่ 18

2014 – ผลงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของ คลัฟ คือการพาทีมขึ้นมาได้สูงสุดแค่อันดับที่ 10 ก่อนจะตัดสินใจลาออกไปในช่วงต้นซีซั่น 2013-14 โดยที่ สตีฟ แม็คราเลน ขยับเข้ามารับหน้าที่ต่อ พร้อมกับผลงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้ขยับขึ้นไปจอดป้ายอยู่ในอันดับที่ 3 แต่น่าเสียดายที่แม้จะผ่าน ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน มาได้ในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นรอบตัดเชือก แต่ก็ไปพ่ายแบบฉิวเฉียดให้กับ ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส 1-0 ในนัดชิงที่ เวมบลีย์

2015 – ในซีซั่นต่อมา แกะเขาเหล็ก พลาดโอกาสลุ้นเพลย์ออฟหลังทำได้เพียงอันดับที่ 8 จนทำให้ เมล มอร์ริส เจ้าของทีมคนล่าสุดที่เข้ามาถือครองหุ้นส่วนใหญ่ในช่วงหลังจบฤดูกาลที่แล้วตัดสินใจปลด แม็คราเลน และก็เป็น พอล คลีเมนต์ ที่เข้ามาแทนที่

2016 – กุนซือคนใหม่พาทีมออกสตาร์ทในช่วงครึ่งซีซั่นแรกได้อย่างน่าประทับใจและสามารถขึ้นไปรั้งอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูงได้ 1 สัปดาห์ในช่วงปลายปี 2015 แต่หลังจากย่างเข้าสู่ปี 2016 ด้วยการชนะใครไม่ได้เลยตลอดทั้งเดือนมกราคม ก็ทำให้ คลีเมนต์ กระเด็นหลุดออกจากตำแหน่งและเปลี่ยนเป็น ดาร์เรน วาสซอลล์ ที่เข้ามาคุมทีมต่อจนกระทั่งจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 5 ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฮัลล์ ซิตี้ ด้วยสกอร์รวม 3-2 ในเกมเพลย์ออฟรอบรองชนะเลิศ

2018 – หลังผ่านการใช้งานกุนซือถึง 3 คนในซีซั่นที่ผ่านมา แกรี่ โรเวตต์ ที่เข้ามารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2017 ก็ได้โอกาสคุมทีมตั้งแต่ช่วงออกสตาร์ทซีซั่น 2017-18 จนคว้าสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้นได้หลังจากอยู่ในอันดับที่ 6 แต่สุดท้ายก็พ่ายให้กับ ฟูแล่ม ในเกมเพลย์ออฟรอบตัดเชือกด้วยสกอร์รวม 2-1 ก่อนที่คู่แข่งของพวกเขาจะกลายเป็นทีมที่คว้าตั๋วขึ้นไปเล่นใน พรีเมียร์ลีก ได้ในที่สุด หลังจากจบฤดูกาลนั้นสโมสรก็ประกาศแต่งตั้ง แฟรงค์ แลมพาร์ด ตำนานแข้งทีมเชลซี ขึ้นมาเป็นผจก.ทีมคนใหม่

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

ดาร์บี้ มักจะเป็นที่กล่าวขานในด้านดีถึงเรื่อง เมืองที่มีคลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง

ดาร์บี้ มักจะเป็นที่กล่าวขานในด้านดีถึงเรื่อง “เมืองที่มีคลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง” จากทั้งกองเชียร์คู่แข่งและสื่อต่างๆ โทนี่ ฟรานซิส คอลัมนิสต์ชื่อดังของ เดอะ เทเลกราฟ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ดาร์บี้ คือเมืองที่คลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง แม้แต่ตอนที่พวกเขาจะอยู่ใน ดิวิชั่น 2 ก็ตาม มันเป็นเรื่องที่สามารถพนันกันได้เลยว่าจำนวนผู้ชมใน ไพรด์ พาร์ค สเตเดี้ยม จะไม่มีทางต่ำกว่า 20,000 คน มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ และเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือด ซึ่งจะมีอยู่เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น” ระหว่าง พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2007-08 สาวกของ เดอะ แรมส์ ต่างถูกยกย่องว่าเป็นแฟนบอลที่จงรักภักดีมากที่สุดท่ามกลางผลงานอันเลวร้ายตลอดทั้งซีซั่นนั้น แทบจะทุกเกมในบ้านของพวกเขาต่างขายตั๋วได้หมดเกลี้ยง ในขณะที่กลุ่มผู้คนที่ออกไปให้กำลังใจในนัดเยือนก็ยังถือว่ามีจำนวนมาก จากการแสดงออกอันยอดเยี่ยมนี้ก็ทำให้กองเชียร์ของ ดาร์บี้ ถูกยกย่องให้เป็นแฟนบอลยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลจากสื่อหลายๆสำนักที่รวมถึงผลโหวตของ สกาย สปอร์ตส์ อีกด้วย อีกทั้งในปี 2013 นิก เว็บสเตอร์ แฟนบอลพันธุ์แท้ของทีมก็สามารถคว้าตำแหน่ง แฟนบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของลีกแชมเปี้ยนชิพ

จากข้อมูลทางสถิติ แกะเขาเหล็ก มีจำนวนแฟนบอลเฉลี่ยในสนามสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของประเทศในซีซั่น 2007-08, 2008-09 และ 2009-10 ที่แม้รังเหย้าของพวกเขาจะมีขนาดรองรับผู้ชมได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ และจบด้วยอันดับต่ำกว่าที่ 18 หรือน้อยกว่าจากลำดับทั้งหมดของระบบฟุตบอลลีก ในฤดูกาล 2008-09 พวกเขามีสถิติแฟนบอลเข้ามาชมเกมมากที่สุดใน ลีกแชมเปี้ยนชิพ ด้วยตัวเลขเฉลี่ยที่สูงกว่า 9 สโมสรใน พรีเมียร์ลีก พร้อมสถิติยอดคนดูสูงสุดในเกมที่พบกับ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2009 พวกเขามีคู่ปรับที่สำคัญหลายทีม เช่น น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, ลีดส์ ยูไนเต็ด และ เลสเตอร์ ซิตี้ โดยที่รายแรกถูกมองว่าเป็นคู่อริหมายเลขหนึ่งจากการสำรวจในปี 2008 ที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า 9 ใน 10 ของแฟนบอลจากทั้งสองทีมต่างระบุฝั่งตรงข้ามว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของพวกเขา การพบกันระหว่างคู่ต่อสู้ที่มีระยะห่างเพียง 14 ไมล์ไปทางตะวันออกของ ดาร์บี้ มีชื่อเรียกว่า ดาร์บี้แห่งมิดแลนด์สตะวันออก (East Midlands derby) ซึ่งผู้ชนะก็จะเป็นฝ่ายได้ครอบครองรางวัล Brian Clough Trophy

เป็นที่รู้กันว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างเริ่มไม่ลงรอยกันตั้งแต่ช่วงยุคปี 70 ซึ่งสาเหตุก็มาจาก ไบรอัน คลัฟ อดีตผจก.ทีมที่ย้ายไปอยู่กับ ฟอเรสต์ จนทำให้เกิดความโกรธแค้นกันในหมู่แฟนๆของ ดาร์บี้ ในขณะที่นักวิจารณ์บางคนได้ให้ความเห็นว่าการเป็นศัตรูกันของทั้งคู่มาจากการแย่งชิงกันว่าฝ่ายไหนคือผู้ที่กุมหัวใจของยอดกุนซือได้มากกว่ากัน ลีดส์ ถูกมองว่าเป็นศัตรูจากการที่ทั้งคู่เคยเป็น 2 ทีมที่ทำผลงานอยู่ในระดับแถวหน้าตอนช่วงยุคปี 70 และบ้างก็ว่ามาจากการประชันผลงานกันระหว่าง ไบรอัน คลัฟ และ ดอน เรวี่ กุนซือผู้ยิ่งใหญ่ของทีมยูงทอง ซึ่งเรื่องราวระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเคยถูกนำมาทำเป็นบทประพันธ์และภาพยนตร์เรื่อง The Damned United ในขณะที่ ดาร์บี้ มองอีกฝ่ายเป็นคู่ปรับตัวฉกาจและถึงขั้นยกให้เป็นทีมอริหมายเลข 2 แต่ทางฝั่ง ลีดส์ กลับหันไปโฟกัสที่ศัตรูอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี เสียมากกว่า ส่วนทาง เลสเตอร์ ที่ถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่สำคัญก็เนื่องมาจากระยะทางที่อยู่ใกล้กันมากกว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์