พลิกปูมประวัติ เนิร์นแบร์ก ทีมยักษ์หลับแห่งลีกเมืองเบียร์

พลิกปูมประวัติ เนิร์นแบร์ก

สโมสรฟุตบอล เนิร์นแบร์ก (1. Fußball-Club Nürnberg Verein für Leibesübungen) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม เนิร์นแบร์ก คือสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมือง เนิร์นแบร์ก รัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี

ทีมถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1900 เริ่มลงเตะอยู่ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่สุดทางตอนใต้ของประเทศ และคว้าแชมป์แรกในรายการนั้นเมื่อปี 1916 ก่อนจะประเดิมการครองบัลลังก์แชมป์สูงสุดของประเทศในปี 1920 หลังจากนั้นก่อนที่จะมีการเปิดตัว บุนเดสลีกา เมื่อปี 1963 เนิร์นแบร์ก เคยชนะเลิศในระดับภูมิภาคเพิ่มอีก 11 ครั้งและคว้าแชมป์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ อีกรวม 7 ครั้ง ทีมยังได้เป็นแชมป์ บุนเดสลีกา 1 สมัย และเคยได้ชูถ้วย เดเอฟเบ โพคาล อีก 4 ครั้ง

นับตั้งแต่ปี 1963 ทีมลงเตะอยู่ในสนามเหย้า มักซ์-มอร์ล็อค-สตาดิโอน ที่ปัจจุบันรองรับผู้ชมในเกมลีกอยู่ที่ 50,000 ที่นั่ง และล่าสุดทางสโมสรยังดำเนินกิจกรรมอื่นๆอีกทั้ง มวย, แฮนด์บอล, ฮอกกี้, โรลเลอร์เบลด, สเก็ตน้ำแข็ง, ว่ายน้ำ, สกี และ เทนนิส

ปัจจุบัน เนิร์นแบร์ก ลงแข่งขันอยู่ใน บุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของประเทศ หลังคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นมาจาก บุนเดสลีกา 2 เมื่อตอนสิ้นสุดฤดูกาล 2017-18 พวกเขายังเป็นเจ้าของสถิติทีมที่ตกชั้นจาก บุนเดสลีกา มากที่สุดถึง 8 ครั้ง โดยแซงหน้าตัวเลขดั้งเดิมของ อาร์มีเนีย บีเลเฟลด์

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1900 – จากการรวมตัวกันของเด็กหนุ่ม 18 คนในผับท้องถิ่นแห่งหนึ่งกลางเมือง เนิร์นแบร์ก ก็ได้ร่วมกันก่อตั้ง FC Nürnberg ขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมกันเล่นฟุตบอล หนึ่งในเกมกีฬายอดฮิตที่พึ่งแพร่หลายมาจากฝั่ง อังกฤษ แทนที่รักบี้ในช่วงเวลานั้น

1909 – หลังจากเริ่มทำผลงานได้ดี ทีมก็มีโอกาสเข้าร่วมในรายการ เซาท์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ

1916 – ทีมคว้าแชมป์ในลีกระดับภูมิภาคได้เป็นครั้งแรก

1918 – เนิร์นแบร์ก คว้าแชมป์ เซาท์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ได้เป็นหนที่สอง นอกจากนี้พวกเขายังสร้างสถิติไร้พ่าย 104 เกม โดยเริ่มต้นจากเดือนกรกฎาคม 1918 ไปจนถึงกุมภาพันธ์ 1922

1919 – แม้จะเป็นปีที่ว่างเว้นจากการเตะเนื่องจาก สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาได้รับฉายาว่า Der Club (The Club) จากผลงานและทักษะที่กลายเป็นที่จดจำรวมถึงสไตล์อันโดดเด่นทั้งในและนอกสนาม ก่อนจะพัฒนาขึ้นมาเป็นหนึ่งในทีมยอดนิยมและมีชื่อเสียงมากที่สุดภายในประเทศ

1920 – ทีมมีโอกาสผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ เป็นครั้งแรก และก็ประสบความสำเร็จในทันทีเมื่อสามารถเอาชนะ กรอยเธอร์ เฟือร์ธ แชมป์เก่าไปได้ 2-0

1921 – ในปีถัดมา เนิร์นแบร์ก สามารถป้องกันแชมป์ประเทศได้ด้วยการไล่ถล่ม เบลาไวส์ 90 ไปแบบขาดลอย 5-0

1922 – แม้ทีมจะผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แต่หลังจากการแข่งขันยืดเยื้อไปจนถึงนัดรีเพลย์ที่รวมช่วงต่อเวลาพิเศษทั้ง 2 นัด ระหว่างที่เกมยังคงอยู่เสมอกันอยู่ 1-1 เมื่อผู้เล่นของ เนิร์นแบร์ก เหลืออยู่ในสนามเพียงแค่ 7 คนท่ามกลางการตัดสินของกรรมการที่ผิดพลาดและอยู่ในยุคที่ยังไม่มีกติกาการใช้ผู้เล่นสำรอง จนกระทั่งเกมได้ยุติลงโดยที่ความตั้งใจในทีแรกของ สมาคมฟุตบอลเยอรมัน จะให้ ฮัมบูร์ก เป็นผู้ชนะภายใต้เงื่อนไขการเล่นแฟร์เพลย์ที่ดีกว่า แต่สุดท้ายทางสมาคมก็ตัดสินใจยกเลิกการมอบรางวัลให้กับผู้ใดภายในปีนั้น

1924 – พวกเขามีโอกาสล้างตากับ ฮัมบูร์ก โจทก์เก่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 2-0 ในนัดชิงชนะเลิศ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ และคว้าแชมป์สมัยที่ 3 ไปครองได้สำเร็จ

1925 – เนิร์นแบร์ก ป้องกันแชมป์ได้อีกในปีถัดมา หลังเฉือนเอาชนะ เอฟเอสเฟา แฟร้งค์เฟิร์ต 1-0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ

1927 – แชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 5 ภายในรอบ 8 ปี เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาโคจรมาพบกับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ในนัดชิงชนะเลิศ ก่อนจะเป็นฝ่ายไล่ต้อนคู่แข่งไปด้วยสกอร์ 2-0

1929 – แม้ทีมจะอยู่ในฐานะแชมป์ของ เซาท์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ แต่ก็ไปต่อไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งอันที่จริงแล้วผลงานของพวกเขาก็เริ่มซบเซาลงเรื่อยๆนับตั้งแต่การคว้าแชมป์ใหญ่หนหลังสุดเนื่องจากรูปแบบการเล่นของเกมในสนามที่เริ่มปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เร็วขึ้น

1934 – เพียงซีซั่นแรกหลัง นาซี เข้ามาปกครองประเทศและมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเกมลูกหนัง เนิร์นแบร์ก ก็กลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นและกลายเป็นทีมที่แทบจะผูกขาดการเป็นแชมป์ระดับภูมิภาคภายในช่วงเวลานั้น และสามารถไต่เต้าขึ้นไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ แต่ก็พ่ายให้กับ ชาลเก้ 04 ทีมที่เรืองอำนาจที่สุดในยุคนั้น 2-1

1935 – แต่พวกเขาก็กลับมาล้างแค้น ชาลเก้ ได้ในปีถัดมา เมื่อมีโอกาสเผชิญหน้ากันในนัดชิงชนะเลิศ Tschammerpokal หรือที่รู้จักกันในชื่อ เดเฟเบ โพคาล ในภายหลัง ก่อนจะคว้าแชมป์บอลถ้วยสมัยแรกไปครองด้วยการเอาชนะคู่แข่ง 2-0

1936 – เนิร์นแบร์ก กลับมาครองถาด เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี หลังเอาชนะ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ 2-1 ในนัดชิงที่ต้องต่อเวลาพิเศษ

1937 – ทีมมีโอกาสป้องกันแชมป์ในปีถัดมา แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อถูก ชาลเก้ ไล่ต้อนไปด้วยสกอร์ 2-0

1939 – พวกเขาได้ฉลองการเป็นแชมป์ เยอรมัน คัพ ครั้งที่สอง หลังเอาชนะ วัลดอฟ มันน์ไฮม์ 2-0 ในนัดชิงชนะเลิศที่ โอลิมเปียสตาดิโอน

1940 – ทีมมีโอกาสป้องกันแชมป์บอลถ้วยในปีถัดมา แต่ก็ต้องพลาดท่าให้กับ เดรสด์เนอร์ 2-1 จากประตูชัยในช่วงต่อเวลาพิเศษ

1947 – ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรนาซีจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกมลูกหนังในประเทศอีกครั้ง หลังจากเริ่มต้นลงเตะใน โอเบอร์ลีกา ลีกระดับภูมิภาครูปแบบใหม่ได้เพียงไม่กี่ปี เนิร์นแบร์ก ก็จบฤดูกาล 1946-47 ด้วยอันดับที่ 1 แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีการจัดชิงแชมป์ระดับประเทศภายในซีซั่นนั้น

ฐานะแชมป์ของ เซาท์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ

1948 – และแล้วในปีถัดมาหลังครองแชมป์ โอเบอร์ลีกา ทางตอนใต้ ได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน ทีมก็เดินหน้าต่อไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ที่กลับมาเปิดฉากเป็นครั้งแรกหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยที่พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ประเทศเป็นสมัยที่ 7 ได้ หลังเฉือนเอาชนะ ไกเซอร์สเลาเทิร์น 2-1

1961 – แม้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เนิร์นแบร์ก จะเคยรั้งอันดับที่ 1 ของ โอเบอร์ลีกา และผ่านเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์สุดท้ายถึง 2 ครั้งในปี 1951 และ 1957 แต่ก็ไปไม่ไกลจนถึงรอบชิงเลยซักครั้ง จนกระทั่งมาทำสำเร็จในฤดูกาล 1960-61 เมื่อได้เผชิญหน้ากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3-0 จนกลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 8 ของทีม

1962 – ทีมยังทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องจนผ่านเข้าไปป้องกันแชมป์ เยอรมัน แชมเปี้ยนชิพ ในซีซั่นถัดมา แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อถูก เอฟเซ โคโลญจน์ ที่โชว์ฟอร์มสดไล่ต้อนไปแบบไม่ไว้หน้า 4-0 แต่ยังดีที่มีรางวัลปลอบใจจากการเป็นแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล หลังเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะ ดุสเซลดอร์ฟ 2-1 และจากการเป็นแชมป์ เยอรมัน ในปีที่ผ่านมาพวกเขาก็ได้สิทธิ์ลงแข่งขันใน ยูโรเปี้ยน คัพ และไปได้ไกลจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะกระเด็นตกรอบด้วยการพ่ายให้กับ เบนฟิก้า ด้วยผลรวม 2 นัด 7-3

1963 – จากการเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 ของ โอเบอร์ลีกา และมีโอกาสได้เข้าไปลุ้นในทัวร์นาเมนต์ระดับประเทศ ก็กลายเป็นผลงานที่ดีเพียงพอต่อการเป็น 1 ใน 16 ทีมที่จะได้เปิดตัวใน บุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของประเทศเวอร์ชั่นใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในซีซั่นถัดไป ในขณะที่ผลงานในยุโรปก็ทำได้ดีพอสมควรเมื่อผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ ก่อนจะหมดโอกาสเข้าชิงด้วยการพ่ายแพ้ต่อ แอตเลติโก้ มาดริด ด้วยสกอร์รวม 3-2

1964 – พวกเขาออกสตาร์ทในซีซั่นปฐมบทของ บุนเดสลีกา ด้วยการประคองตัวไปจนจบในอันดับที่ 9

1968 – หลังค่อยๆขยับขึ้นมาอยู่ในครึ่งบนของตารางได้ในหลายๆปีให้หลัง เนิร์นแบร์ก ก็สามารถใส่เกียร์เดินหน้าจนนั่งแท่นอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 ยาวม้วนเดียวไปจนจบซีซั่น และกลายเป็นแชมป์ บุนเดสลีกา สมัยแรก รวมถึงยังเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 9 ของสโมสรอีกด้วย

1969 – แต่แล้วด้วยความมั่นใจเกินร้อยของ มักซ์ เมอร์เคล กุนซือของทีมที่ตัดสินใจโละนักเตะคีย์แมนออกไปเกือบทั้งแผงด้วยความคิดที่ว่าพวกเขาแก่เกินไปและทดแทนเข้ามาด้วยแข้งหน้าใหม่นับโหล บวกด้วยความขัดแย้งกับลูกทีมในฤดูกาลป้องกันแชมป์ก็ทำให้ผลงานของทีมตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย แม้ เมอร์เคล จะถูกไล่ออกในช่วงเดือนมีนาคมแต่มันก็ไม่ทันการเมื่อสุดท้ายแล้วทีมตกลงไปอยู่ในอันดับรองบ๊วย ทั้งๆที่ 1 ปีก่อนหน้านั้นพวกเขายังอยู่บนยอดสุดของตาราง และก็ทำให้ เนิร์นแบร์ก กลายเป็นทีมแรกที่ร่วงตกชั้นหลังจากที่เคยคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา

1971 – แม้จะสามารถครองแชมป์ เรกิโอนาลลีกา ทางตอนใต้ ที่เป็นลีก ดิวิชั่น 2 ระดับภูมิภาค แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอในรอบแบ่งกลุ่มสำหรับการเป็นเป็นทีมที่จะได้เลื่อนชั้น

1974 – ทีมมีลุ้นในการเลื่อนชั้นอีกครั้งเมื่อจบในอันดับที่ 2 ของลีกรองระดับภูมิภาค แต่กลับถูก ไอน์ทรัค บราวน์ชไวก์ ปาดหน้าคว้าโควตาไปด้วยประตูได้เสียที่ดีกว่าจากการขับเคี่ยวต่อในรอบแบ่งกลุ่ม

1976 – หลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างลีกรองจาก เรกิโอนาลลีกา มาเป็น บุนเดสลีกา 2 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทีมมีโอกาสลุ้นที่จะได้เลื่อนชั้นเมื่อได้ลงเตะเกมเพลย์ออฟกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก่อนจะพ่ายไปด้วยผลรวม 2 นัด 4-2

1978 – หลังใช้เวลาดิ้นรนอยู่ในระดับ ดิวิชั่น 2 นานถึง 9 ปี ในที่สุด เนิร์นแบร์ก ก็ได้หวนกลับคืนสู่ บุนเดสลีกา เมื่อเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะ ร็อต-ไวส์ เอสเซ่น ในเกมเพลย์ออฟจากสกอร์รวม 3-2

1979 – แต่หลังจากกลับขึ้นมาได้เพียงแค่ปีเดียว พวกเขาก็ตกชั้นลงมาอีกครั้งจากการจบฤดูกาล 1978-79 ด้วยอันดับรองบ๊วย

1980 – และทีมก็เลื่อนชั้นกลับมาได้แบบอัตโนมัติในปีถัดมา เมื่อสามารถคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 โซนทิศใต้ โดยในช่วงต้นยุคปี 80 จู่ๆความสัมพันธ์ระหว่าง ชาลเก้ คู่แข่งสำคัญที่เคยขับเคี่ยวแย่งแชมป์กันตั้งแต่ช่วงกลางยุคปี 30 ก็กลับกลมเกลียวแน่นแฟ้นขึ้นมา เมื่อต่างฝ่ายต่างพากันต้อนรับขับสู้กองเชียร์ทีมเยือนด้วยความมิตรไมตรี แถมยังเริ่มมีการเปิดเพลงประจำสโมสรของทั้งฝ่ายก่อนเกมที่ทั้งคู่จะพบกัน

1982 – เนิร์นแบร์ก มีโอกาสลุ้นจะได้ครองถ้วยรางวัล เดเอฟเบ โพคาล เป็นสมัยที่ 4 เมื่อได้ผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ บาเยิร์น ที่พลิกสถานการณ์จากฝ่ายที่ตามหลังอยู่ 2 ประตู จนกลับมาแซงหน้าไปด้วยสกอร์ 4-2

1984 – หลังกลับมาอยู่ใน บุนเดสลีกา ได้นาน 4 ปี สุดท้ายพวกเขาก็จมปลักอยู่ตรงก้นตาราง และร่วงตกชั้นลงไปหลังจบซีซั่น 1983-84

1985 – หนนี้ทีมใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็สามารถเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาได้ หลังเข้าป้ายเป็นที่หนึ่งของตาราง บุนเดสลีกา 2 โดยมีแต้มเท่ากับ ฮันโนเวอร์ 96 แต่มีลูกได้เสียที่ดีกว่า

1988 – เนิร์นแบร์ก พาตัวเองจบฤดูกาล 1987-88 ได้ด้วยอันดับที่ 5 พร้อมคว้าสิทธิ์ไปลงเตะ ยูฟ่า คัพ ในฤดูกาลถัดไป ซึ่งถือเป็นผลงานใน บุนเดสลีกา ที่ดีที่สุดของพวกเขานับตั้งแต่ที่เคยคว้าแชมป์หนสุดท้ายจวบจนถึงทุกวันนี้

1994 – หลังเคยหวุดหวิดที่จะตกชั้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1991 ในที่สุดพวกเขาก็หนีไม่รอดเมื่อจบฤดูกาล 1993-94 ด้วยการมีแต้มเท่ากับ ไฟร์บวร์ก ทีมที่อยู่เหนือพื้นที่สีแดง แต่มีลูกได้เสียที่น้อยกว่า

1996 – สถานการณ์ของทีมกลับเลวร้ายลงอีกเมื่อประสบปัญหาทางด้านการเงินจนถูกตัดแต้มไปอีก 6 คะแนน และทำให้ต้องร่วงตกชั้นลงไปสู่ เรกิโอนาลลีกา หรือ ดิวิชั่น 3 ในตอนนั้น

1997 – พวกเขาใช้เวลาแค่ปีเดียวก็พาตัวเองกลับขึ้นมาสู่ บุนเดสลีกา 2 หลังยึดตำแหน่งจ่าฝูงของ เรกิโอนาลลีกา ทางตอนใต้ ได้เมื่อจบฤดูกาล 1996-97

1998 – หลังจัดการปัญหาทางด้านบัญชีให้ดีขึ้นผลงานของทีมก็ดีขึ้นตามไปด้วย จนสามารถคว้าอันดับที่ 3 ตามหลัง แฟร้งค์เฟิร์ต และ ไฟร์บวร์ก เลื่อนชั้นคืนสู่ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จ

1999 – ในช่วงท้ายของ บุนเดสลีกา ฤดูกาล 1998-99 เกิดเหตุการณ์หนีตายแบบสุดดราม่าขึ้นมาในนัดส่งท้าย เมื่อมีถึง 5 ทีมที่ต้องการ 3 คะแนนเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่จะมีเพียง 1 ในนั้นที่ต้องร่วงตกชั้นตาม มึนเช่นกลัดบัค และ โบคุ่ม ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว สถานการณ์หลังจบ 45 นาทีแรก แฟร้งค์เฟิร์ต คือทีมที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุด แต่พวกเขากลับพลิกจากสกอร์ที่ยังเสมอกัน 0-0 มารัวแซง ไกเซอร์สเลาเทิร์น จนชนะไป 5-1 ในขณะที่ ฮันซ่า รอสต๊อค ก็พลิกกลับมาชนะ โบคุ่ม 3-2 และ สตุ๊ตการ์ท ก็เฉือน เบรเมน 1-0 ส่วนอีก 2 ทีมที่เหลือคือการพบกันเองระหว่าง เนิร์นแบร์ก และ ไฟร์บวร์ก ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ เนิร์นแบร์ก 2-1 จนทำให้ทีมที่ก่อนแข่งยังอยู่อันดับที่ 12 ดีๆและเริ่มวางแผนจำหน่ายตั๋วปี บุนเดสลีกา ในซีซั่นหน้า กลับร่วงลงมาอยู่ที่ 16 และต้องลงไปเตะในระดับ ดิวิชั่น 2 อย่างสุดชอกช้ำ เมื่อทั้งคะแนนและลูกได้เสียเท่ากันกับ แฟร้งค์เฟิร์ต แต่กลับยิงประตูได้น้อยกว่า

2001 – ทีมใช้เวลาอยู่ 2 ซีซั่นก็กลับขึ้นมายังลีกสูงสุดได้อีกครั้ง เมื่อสามารถคว้าตำแหน่งแชมป์ บุนเดสลีกา 2 ประจำฤดูกาล 2000-01

2003 – หลังหนีรอดการตกชั้นไปได้อย่างหวุดหวิดในซีซั่นแรกที่กลับมา แต่แล้วในปีถัดมาพวกเขาก็ตกลงไปอยู่ในตำแหน่งรองบ๊วยและร่วงลงสู่ บุนเดสลีกา 2

2004 – ทีมคว้าอันดับที่ 1 ของลีกรองได้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 ปี และทะยานกลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศ

2007 – การกลับมาในครั้งนี้ เนิร์นแบร์ก ทำผลงานได้ดีขึ้นเมื่อค่อยๆไต่อันดับขึ้นมาทุกปี บวกกับการเซ็นสัญญาที่น่าสนใจก่อนออกสตาร์ทฤดูกาล 2006-07 ด้วยการเปิดตัว โทมัส กาลาเซ็ค กองกลางทีมชาติเช็ก ผู้ที่ยังเป็นอดีตกัปตันทีม อาแจ็กซ์ ที่ช่วยให้พวกเขาเข้าป้ายในอันดับที่ 6 พร้อมคว้าสิทธิ์ไปลงเตะ ยูฟ่า คัพ นอกจากนี้ทีมยังผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เยอรมัน คัพ และสามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ได้สมดั่งใจ หลังจัดการสยบ สตุ๊ทการ์ท 3-2 จากประตูชัยในช่วงต่อเวลาพิเศษของ แยน คริสเตียนเซ่น มิดฟิลด์ทีมชาติเดนมาร์ก หนึ่งในการเสริมทัพเมื่อช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา

2008 – ในปีถัดมาแม้พวกเขาจะกลับคืนสู่เวทียุโรปด้วยผลงานที่พอใช้จากการผ่านเข้าไปจนถึงรอบ 32 ทีมสุดท้าย แต่ฟอร์มในลีกกลับตกต่ำลงอย่างน่าใจหายจนทำให้สโมสรต้องตัดสินใจปลด ฮันส์ เมเยอร์ กุนซือที่พึ่งช่วยให้ทีมคว้าแชมป์บอลถ้วยในปีที่ผ่านมาหลังผ่านพ้นนัดที่สองในช่วงครึ่งหลังของซีซั่น ในขณะที่ โธมัส วอน ฮีเซ่น ผู้ที่เข้ามารับงานต่อก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนักจนทำให้ทีมร่วงตกชั้นลงไปจากการจบในอันดับที่ 16 หลังพ่ายคาบ้านให้กับ ชาลเก้ 2-0 ในนัดปิดฤดูกาล

2009 – พวกเขาต่อสู้ดิ้นรนเพื่อกลับคืนสู่ลีกสูงสุดได้ในทันที เมื่อสามารถคว้าอันดับที่ 3 และได้สิทธิ์ไปเล่นเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้นกับ เอเนอร์กี้ ค็อตบุส ทีมอันดับ 16 ของ บุนเดสลีกา ก่อนจะเอาชนะไปแบบขาดลอยด้วยสกอร์รวม 2 นัด 5-0

2010 – เนิร์นแบร์ก ยังคงอยู่รอดปลอดภัยใน บุนเดสลีกา ต่อไป แม้จะต้องมาลงเตะในเกมเพลย์ออฟเป็นปีที่สองติดต่อกันด้วยสถานะที่ต่างจากปีที่แล้ว แต่พวกเขาก็ยังเก๋าพอที่จะเอาชนะ เอาก์สบวร์ก คู่แข่งที่มีสิทธิ์ลุ้นจาก ดิวิชั่น 2

2014 – แม้หลังจากนั้นทีมจะประคองตัวเองให้ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 10 มาได้ 3 ปีติดต่อกัน แต่หลังจากที่พ่ายไป 11 จาก 12 นัดสุดท้ายของฤดูกาล 2013-14 ก็ทำให้ร่วงตกลงมาอยู่ในตำแหน่งรองบ๊วยจนต้องไปเริ่มต้นใหม่ใน บุนเดสลีกา 2 ซีซั่นหน้า

2016 – พวกเขามีโอกาสลุ้นกลับคืนสู่ บุนเดสลีกา หลังจบฤดูกาล 2015-16 ด้วยการได้อันดับที่ 3 ของลีกรองจนได้ไปเตะเกมชี้ชะตากับ แฟร้งค์เฟิร์ต ก่อนจะเป็นฝ่ายน้ำตาตกจากผลรวม 2-1

2018 – เนิร์นแบร์ก มาสมหวังในอีก 2 ปีถัดมา เมื่อสามารถเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 พร้อมคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติพร้อมๆกับ ดุสเซลดอร์ฟ ทีมแชมป์ บุนเดสลีกา 2

ศัตรูคู่อริ

ศัตรูคู่อริ

กรอยเธอร์ เฟือร์ธ คือทีมคู่ปรับหมายเลข 1 ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงของ เนิร์นแบร์ก มาอย่างช้านาน จุดเริ่มต้นก็ต้องย้อนไปไกลถึงในยุคบุกเบิกวงการลูกหนัง เยอรมัน เมื่อทั้งคู่ต่างผลัดกันช่วงชิงความยิ่งใหญ่ในเกมระดับประเทศ ทั้ง 2 ทีมยังมีสถิติการเผชิญหน้ากันในแมตช์อย่างเป็นทางการถึง 258 ครั้งซึ่งถือว่ามากที่สุดในเกมระดับอาชีพของ เยอรมัน

ครั้งหนึ่งภายในปี 1921 ทีมชาติเยอรมัน มีเพียงผู้เล่นที่มาจาก 2 สโมสร เนิร์นแบร์ก และ เฟือร์ธ เท่านั้นในการเตรียมลงสนามเพื่อพบกับ ฮอลแลนด์ ที่ กรุงอัมสเตอร์ดัม โดยที่ทีมออกเดินทางข้ามประเทศไปด้วยรถไฟ แต่มีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนเมื่อนักเตะของ เนิร์นแบร์ก รวมตัวกันอยู่ในขบวนด้านหน้า ส่วนผู้เล่นของ เฟือร์ธ ก็ไปขลุกกันอยู่ที่โบกี้ด้านท้าย ในขณะที่ผจก.ทีมและสตาฟฟ์โค้ชต้องปักหลักกันอยู่ในตู้ระหว่างกลาง

ในเกมนั้นนักเตะของ เฟือร์ธ เป็นผู้ทำประตูแรกให้กับ เยอรมัน โดยมีเพียงผู้เล่นจากสโมสรเดียวกันเท่านั้นที่เข้ามาร่วมแสดงความยินดีด้วย แต่เคสที่หนักกว่านั้นก็คือ ฮันส์ ซูเตอร์ ที่โดนบีบให้ต้องออกจากทีม เฟือร์ธ หลังตัดสินใจไปแต่งงานกับแฟนสาวที่เป็นชาวเมือง เนิร์นแบร์ก ก่อนที่หัวหอกดีกรีทีมชาติเยอรมันจะเลือกย้ายมาอยู่กับ เนิร์นแบร์ก เสียเลย และกลายเป็นขุมกำลังของทีมที่เคยคว้าแชมป์ระดับประเทศถึง 3 ครั้ง

เนิร์นแบร์ก และ เฟือร์ธ พึ่งเคยมีโอกาสลงฟาดแข้งกันใน บุนเดสลีกา ระหว่างฤดูกาล 2012-13 ในขณะที่เกมกับ บาเยิร์น ก็ถือเป็นแมตช์สำคัญประจำฤดูกาลเช่นกัน เนื่องจากทั้งคู่ต่างประสบความสำเร็จมากที่สุดทั้งใน รัฐบาวาเรีย และในระดับประเทศ