เจาะลึกประวัติ อาร์เซน่อล ไอ้ปืนใหญ่แห่งกรุงลอนดอน

เจาะลึกประวัติ อาร์เซน่อล ไอ้ปืนใหญ่แห่งกรุงลอนดอน

สโมสรฟุตบอลอาร์เซน่อล (Arsenal Football Club) หรือที่รู้จักกันดีในนาม อาร์เซน่อล มีชื่อเล่นที่แฟนบอลเรียกกันติดปากว่า เดอะ กันเนอร์ส หรือ ไอ้ปืนใหญ่ ในบ้านเรา ทีมมีถิ่นฐานตั้งอยู่ใน ย่านไอส์ลิงตัน ใจกลางเขตกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
อาร์เซน่อล เป็นสโมสรแรกจากแถบทางตอนใต้ของประเทศที่ได้เข้าร่วม ฟุตบอลลีก ในปี 1893 ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาจนถึงระดับ ดิวิชั่น 1 ในปี 1904 และเคยพลาดท่าตกชั้นลงไปเพียงแค่ครั้งเดียว จนกระทั่งปี 1913 ที่พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่ในลีกสูงสุดได้จวบจนถึงทุกวันนี้ เกียรติประวัติของทีมคือการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้รวมกัน 13 สมัย, เอฟเอ คัพ 13 ครั้ง, ลีก คัพ 2 ครั้ง, คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 15 ครั้ง รวมถึง ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ และ อินเตอร์ ซิตี้ แฟร์ส คัพ อีกอย่างละสมัย เฮอร์เบิร์ต แชปแมน คือผจก.ทีมที่ช่วยให้ เดอะ กันเนอร์ส คว้าโทรฟี่ระดับประเทศใบแรกมาครอง แต่น่าเสียดายที่กลับเสียชีวิตไปด้วยอาการปอดติดเชื้ออย่างกะทันหันระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ โดยที่เขายังเป็นผู้ริเริ่มการนำระบบแผนการเล่น (เช่น 4-3-3), ไฟสปอตไลท์ในสนามและเบอร์เสื้อของนักเตะเข้ามาใช้ในวงการลูกหนัง

อาร์แซน เวนเกอร์

ในขณะที่ อาร์แซน เวนเกอร์ คือกุนซือที่ทำหน้าที่ได้ยาวนานที่สุดและยังคว้าถ้วยรางวัลให้กับทีมได้มากที่สุดอีกด้วย ซึ่งผลงานไฮไลท์ของเขาก็คือ การคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้ 7 สมัย รวมถึงทีมชุดแชมป์ของเขายังสร้างสถิติไร้พ่ายในเกมลีกได้ยาวนานที่สุดถึง 49 นัดในช่วงระหว่างปี 2003 ถึง 2004 จนได้รับฉายาว่า ดิ อินวินซิเบิ้ลส์ (The Invincibles) พร้อมกับการได้ครองถ้วยรางวัลแชมป์ พรีเมียร์ลีก ในเวอร์ชั่นพิเศษที่เป็นสีทอง อาร์เซน่อล ถูกจัดให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำเงินได้มากที่สุดในโลกจากรายรับรวม 487.6 ล้านปอนด์ระหว่างฤดูกาล 2016-17 และจากกิจกรรมต่างๆในโลกโซเชี่ยลตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2015 ได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นทีมที่มีฐานแฟนบอลมากที่สุดในอันดับ 5 ของโลก โดยในปี 2018 นิตยสารฟอร์บส์ ได้คาดการณ์ว่า พวกเขาเป็นสโมสรที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของ อังกฤษ ด้วยมีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 2.24 พันล้านดอลล่าร์

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1886 – เดวิด ดันสกิ้น พนักงานชาวสกอตของโรงงานผลิตอาวุธในย่านวูลวิชพร้อมพรรคพวกอีก 15 คนได้รวมตัวกันขึ้นภายใต้ชื่อ ไดอัล สแควร์ ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น รอยัล อาร์เซน่อล ในเดือนถัดมา และใช้เวลาส่วนใหญ่ลงเตะอยู่ในสนาม เมเนอร์ กราวด์ ในย่านพลัมสตีด
1891 – หลังคว้าแชมป์ระดับท้องถิ่นได้ภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขาก็กลายเป็นทีมแรกจาก ลอนดอน ที่ก้าวขึ้นไปเป็นสโมสรระดับอาชีพ
1893 – ทีมเปลี่ยนชื่ออีกครั้งไปเป็น วูลวิช อาร์เซน่อล หลังมีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด ก่อนจะมีสิทธิ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ฟุตบอลลีก ในปีถัดมา
1904 – หลังการเป็นทีมแรกใน ฟุตบอลลีก ที่มาจากแถบทางตอนใต้และเริ่มต้นลงเตะอยู่ใน ดิวิชั่น 2 พวกเขาก็สามารถคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นมาได้ภายในปีนั้นจากการคว้าแชมป์ลีกระดับรองของประเทศ
1910 – จากสถานะทางการเงินที่อัตคัดของฐานแฟนบอลที่เป็นพนักงานโรงงานสรรพาวุธจนทำให้ยอดคนดูค่อยๆลดน้อยถอยลงไป ประจวบกับการเข้ามาของสโมสรฟุตบอลหน้าใหม่ที่เพียบพร้อมกว่าจากหลายๆพื้นที่ จนทำให้ทีมตกอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับการล้มละลาย ก่อนที่ เฮนรี่ นอร์ริส และ วิลเลี่ยม ฮอลล์ สองนักธุรกิจจะเข้ามามีส่วนช่วยพยุงสถานะของสโมสรพร้อมกับมองหาช่องทางที่จะขยับขยาย
1913 – และแล้ว วูลวิช อาร์เซน่อล ก็ร่วงตกชั้นลงไปในที่สุดหลังจบฤดูกาล 1912-13 ด้วยการจมอยู่ในตำแหน่งบ๊วยของตาราง ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาก็ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปปักหลักอยู่ในรังเหย้าแห่งใหม่ที่ ไฮบิวรี่ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อทีมอีกครั้งมาเป็น ดิ อาร์เซน่อล
1919 – มีเหตุการณ์ดราม่าเล็กน้อยภายในปีที่ ฟุตบอลลีก เริ่มกลับมาลงเตะกันอีกครั้งหลังว่างเว้นไปในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ ฟุตบอลลีก ทำการโหวตให้ ดิ อาร์เซน่อล ขยับขึ้นมาเป็นสมาชิกใหม่ของ ดิวิชั่น 1 ที่มีการปรับจำนวนทีมเพิ่มขึ้นมา ในขณะที่พวกเขาจบในอันดับที่ 5 ของฤดูกาลก่อนที่จะหยุดยาวไปเนื่องจากภาวะสงคราม โดยเลือกมองข้ามการหยิบยื่นสิทธิ์ให้กับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ทีมที่ร่วงตกชั้นจาก ดิวิชั่น 1 ไปในซีซั่นนั้น ก่อนที่สโมสรจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อหนสุดท้ายมาเป็น อาร์เซน่อล จวบจนทุกวันนี้
1925 – ด้วยการลงเตะอยู่ในระดับ ดิวิชั่น 1 พร้อมกับสนามเหย้าแห่งใหม่ที่รองรับความจุได้มากกว่า เมเนอร์ กราวด์ ถึง 2 เท่า ก็ทำให้งบประมาณของทีมถีบตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พวกเขากล้าทุ่มค่าแรงอันเป็นสถิติในการดึงตัว เฮอร์เบิร์ต แชปแมน กุนซือยอดฝีมือที่พึ่งช่วยให้ ฮัดเดอร์สฟิลด์ คว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยติดต่อกัน เขาคือผู้ที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าให้กับ อาร์เซน่อล ทั้งในด้านวางระบบการฝึกซ้อมและแผนการเล่นรูปแบบใหม่ ยังมีการดึงนักเตะดาวรุ่งอย่าง คลิฟฟ์ บาสติน และ เอ็ดดี้ แฮปกู๊ด รวมถึงยอมจ่ายให้กับเหล่าซุปตาร์อย่าง เดวิด แจ็ค และ อเล็กซ์ เจมส์ ให้เข้ามาอยู่กับทีม จนทำให้สโมสรได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าบุญทุ่มในสมัยนั้น
1930 – ในที่สุดโทรฟี่ระดับเมเจอร์ใบแรกที่รอคอยก็มาถึง เมื่อ แชปแมน พาลูกทีมก้าวลงสู่สนาม เวมบลีย์ เพื่อเผชิญหน้ากับ ฮัดเดอร์สฟิลด์ อดีตต้นสังกัดของเขาก่อนจะเอาชนะไปได้ 2-0 ในนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ
1931 – อาร์เซน่อล เดินหน้าคว้าความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเมื่อทำคะแนนทิ้งห่าง แอสตัน วิลล่า ไปถึง 7 คะแนน ก่อนจะคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 เป็นสมัยแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร
1933 – หลังตกเป็นฝ่ายตามหลัง เอฟเวอร์ตัน เพียงแค่ 2 คะแนนในซีซั่นก่อนหน้านั้น แชปแมน นำทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นสมัยที่ 2 ในรอบ 3 ปีโดยมี แอสตัน วิลล่า ที่ทำคะแนนน้อยกว่าอยู่ 4 แต้มหลังจบฤดูกาล 1932-33
1934 – แต่แล้วในช่วงกลางฤดูกาลถัดมาหลังผ่านพ้นปีใหม่ไปได้เพียงไม่กี่วัน แชปแมน ก็เริ่มมีอาการป่วยจากไข้หวัด และอาการก็เริ่มทรุดหนักลงจากการติดเชื้อที่ปอดจนกระทั่งเจ้าตัวเสียชีวิตลงหลังเวลาผ่านพ้นเข้าสู่วันที่ 6 มกราคมได้ไม่นาน โจ ชอว์ คือผู้ที่เข้ามาช่วยรักษาการณ์ไปจนจบฤดูกาล ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่สานต่อได้อย่างยอดเยี่ยมจนทำให้ทีมคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 ได้เป็นหนที่สามจากการทำแต้มเหนือ ฮัดเดอร์สฟิลด์ 3 คะแนน
1935 – จอร์จ อัลลิสัน ก้าวเข้ามารับตำแหน่งถาวรในซีซั่นถัดมา และประเดิมผลงานในซีซั่นแรกด้วยการพา อาร์เซน่อล ทำแฮตทริกในการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นทีมที่สองต่อจาก ฮัดเดอร์สฟิลด์ โดยมี ซันเดอร์แลนด์ ที่ทำแต้มตามหลังอยู่ 4 คะแนน
1936 – อัลลิสัน สามารถพาทีมเดินทางเข้าสู่ เวมบลีย์ เพื่อเผชิญหน้ากับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ก่อนจะเอาขนะไป 1-0 พร้อมกับการครองถ้วย เอฟเอ คัพ เป็นสมัยที่ 2
1938 – อาร์เซน่อล ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นสมัยที่ 5 เมื่อทำแต้มเฉือนชนะ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ไปเพียงแค่คะแนนเดียวหลังจบ 42 นัดในฤดูกาล 1937-38
1948 – แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้ ฟุตบอลลีก ต้องหยุดเตะไปนานหลายปี แต่ด้วยการนำทัพของ ทอม วิทเทคเกอร์ ที่เข้ามาสานงานต่อจาก อัลลิสัน เป็นซีซั่นแรก ก็ช่วยให้ เดอะ กันเนอร์ส กลับมาคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 ได้หลัง ฟุตบอลลีก เริ่มกลับมาลงเตะกันเป็นปีที่ 2
1950 – ถ้วยรางวัลใบที่สองของ วิทเทคเกอร์ ตามมาในเวลาไม่นาน เมื่อเขาช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ เป็นสมัยที่ 3 จากการสยบ ลิเวอร์พูล 2-0 ได้ที่ เวมบลีย์
1953 – อาร์เซน่อล สร้างสถิติเป็นทีมที่คว้าแชมป์ลีกได้มากที่สุด 7 ครั้งในเวลานั้น เมื่อทำแต้มได้เท่ากับ เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ ในนัดปิดฤดูกาล 1952-53 แต่ก็เป็นฝ่ายได้เฮจากผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่า
1966 – หลังการคว้าแชมป์หนหลังสุดทีมก็ห่างหายจากความสำเร็จไปนาน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถสร้างทีมขึ้นมาทดแทนนักเตะชุดแชมป์ปี 53 ที่โรยราเต็มที จนกระทั่งการแต่งตั้ง เบอร์ตี้ มี อดีตนักกายภาพประจำสโมสรที่ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้คุมทีมอย่างเต็มตัว โดยมี ดอน ฮาว ที่เข้ามาเป็นมือขวาพร้อมกับนักเตะหน้าใหม่อย่าง บ็อบ แม็คเนบ และ จอร์จ เกรแฮม ก็ทำให้ทีมเริ่มทำอันดับไต่ขึ้นมาจากพื้นที่กลางตาราง
1968 – มี พาทีมเข้าชิงชนะเลิศรายการ ลีก คัพ เป็นสมัยแรก แต่ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ ลีดส์ ยูไนเต็ด จากประตูเดียวที่เกิดขึ้นตั้งแต่นาทีที่ 20 ของเกม
1969 – อาร์เซน่อล เดินทางเข้าสู่ เวมบลีย์ เป็นปีที่สองติดต่อกันจากรายการเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว แต่พวกเขาก็ยังคงต้องผิดหวังเมื่อถูก สวินดอน ทาวน์ ไล่ต้อน ไปด้วยสกอร์ 3-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษหลังอุตส่าห์ตามตีเสมอมาเป็น 1-1 ในช่วง 5 นาทีก่อนหมด 90 นาที
1970 – อย่างไรก็ตาม มี ก็ช่วยให้ทีมคว้าถ้วยรางวัลได้ในที่สุดและยังเป็นโทรฟี่จากเวทียุโรปแรกของสโมสร จากการพลิกกลับมาเอาชนะ อันเดอร์เลชท์ ได้ด้วยสกอร์รวม 4-3 ในนัดชิงรายการ อินเตอร์ ซิตี้ แฟร์ส คัพ ที่ลงเตะกันแบบเหย้า-เยือน
1971 – เดอะ กันเนอร์ส กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง เมื่อสามารถคว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรจากการทำแต้มเฉือนเอาชนะ ลีดส์ ยูไนเต็ด ไปเพียงแค่คะแนนเดียวจนกลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 8 ของพวกเขา รวมถึงการครองแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยที่ 4 จากการเอาชนะ ลิเวอร์พูล 2-1 ในนัดตัดสินที่ เวมบลีย์
1976 – หลังการคว้าดับเบิ้ลแชมป์ พวกเขาก็ทำได้แค่เฉียดไปเฉียดมาจากการเป็นทีมคู่ชิง เอฟเอ คัพ ในปี 1972 ที่แพ้ให้กับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ก่อนจะมาเข้าป้ายเป็นอันดับสองในลีกรองจาก ลิเวอร์พูล ในซีซั่นถัดมา จนกระทั่งในช่วงหน้าร้อนปี 1976 เทอร์รี่ นีลล์ อดีตกองหลังของทีมได้หวนกลับมาสืบทอดตำแหน่งต่อจาก เบอร์ตี้ มี และสร้างสถิติการเป็นผจก.ทีมปืนใหญ่ที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 34 ปี ซึ่งตามมาด้วยขุมกำลังหน้าใหม่อย่าง มัลคอล์ม แม็คโดนัลด์, แพท เจนนิ่งส์ รวมถึงการแจ้งเกิดของสตาร์ดาวรุ่งทั้ง เลียม เบรดี้ และ แฟรงค์ สเตเปิลตัน
1978 – นีลล์ พาทีมลุ้นแชมป์ใบแรกในรอบ 7 ปีจากการเข้าชิง เอฟเอ คัพ แต่ก็พ่ายให้กับ อิปสวิช ทาวน์ 1-0 โดยที่ โรเจอร์ ออสบอร์น ผู้ยิงประตูชัยให้กับ ทีมม้าขาว ในนาทีที่ 77 จะดีใจสุดขีดกับเพื่อนร่วมทีมจนมีอาการหน้ามืดก่อนจะได้รับการปฐมพยาบาลและถูกเปลี่ยนตัวออกไปในนาทีถัดมา
1979 – อาร์เซน่อล สามารถคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยที่ 5 ได้สมดั่งใจ เมื่อลงฟาดแข้งในแมตช์ชิงชนะเลิศสุดคลาสสิกกับ แมนฯ ยูไนเต็ด โดยหลังจากเป็นฝ่ายออกนำคู่แข่งไปถึง 2 ประตูในครึ่งแรก แต่กลับถูก ปีศาจแดง ตามตีเสมอจาก 2 ประตูในช่วง 5 นาทีสุดท้าย ก่อนที่ อลัน ซันเดอร์แลนด์ จะรับบทฮีโร่ซัดประตูชัยให้ทีมได้เฮก่อนหมดเวลา 1 นาที
1980 – นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งปีที่สาวก เดอะ กันเนอร์ส รู้สึกเสียดายมากที่สุด เมื่อพวกเขาสามารถผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศถึง 2 รายการ จากการตบเท้าเข้าสู่ เวมบลีย์ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ด้วยการปราชัยให้กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 1-0 ก่อนที่อีก 4 วันให้หลังจะมาอกหักซ้ำสองจากการดวลจุดโทษพ่ายให้กับ บาเลนเซีย ในนัดชิง ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ ที่ เฮย์เซล สเตเดี้ยม
1986 – จอร์จ เกรแฮม อดีตขุนพลชุดดับเบิ้ลแชมป์ปี 71 ที่เริ่มสร้างชื่อในอาชีพโค้ชกับ มิลล์วอลล์ รีเทิร์นกลับมารับตำแหน่งกุนซือหลังจบฤดูกาล 1985-86
1987 – ในซีซั่นเปิดตัวของ เกรแฮม เขาก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์ได้สำเร็จ จากการเอาชนะ ลิเวอร์พูล 2-1 ในนัดชิง ลีก คัพ ที่ เวมบลีย์ และยังเป็นการชนะเลิศในรายการนี้เป็นครั้งแรกของสโมสร
1988 – ด้วยผู้เล่นหน้าใหม่ที่พึ่งเซ็นเข้ามาอย่าง ไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิ๊กสัน และ สตีฟ โบลด์ ก็เข้ามาช่วยเติมเต็มแผงแบ็คโฟร์อันเลื่องชื่อของพวกเขาที่นำโดย โทนี่ อดัมส์ กัปตันทีมลูกหม้อของสโมสร โดยในซีซั่นนั้นพวกเขาสามารถคว้าแชมป์ ฟุตบอล ลีก เซนเทนารี่ โทรฟี่ ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์พิเศษที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปีของ ฟุตบอลลีก
1989 – เกรแฮม ช่วยนำพา อาร์เซน่อล กลับมาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีแบบสุดดราม่าในนัดปิดฤดูกาล 1988-89 โดยสถานการณ์ก่อนเกม ลิเวอร์พูล เจ้าบ้านผู้ไม่เคยพ่ายแพ้จากการถูกบุกมายิงห่าง 2 ประตูขึ้นไปที่ แอนฟิลด์ มาร่วม 3 ปี ต้องการเพียงแค่ผลเสมอก็จะเป็นฝ่ายได้ชูถ้วยแชมป์ ในขณะที่ผู้มาเยือนต้องการชัยชนะด้วยผลต่าง 2 ลูกขึ้นไปและนั่นก็คือสิ่งที่พวกเขาทำได้เป๊ะๆ โดยประตูตัดสินแชมป์เกิดขึ้นในช่วงท้ายเกมจากฝีเท้าของ ไมเคิ่ล โธมัส ที่ได้ย้ายมาเป็นนักเตะหงส์แดงในภายหลัง
1991 – เกรแฮม พาทีมคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 สมัยที่ 10 โดยตลอดฤดูกาล 1990-91 พวกเขาพ่ายแพ้ไปเพียงแค่นัดเดียว และทำแต้มทิ้งห่าง ลิเวอร์พูล ทีมอันดับสองถึง 7 คะแนน
1993 – แม้ในซีซั่นนั้นทีมจะจบด้วยการร่วงลงไปอยู่ในอันดับที่ 10 ของตาราง แต่พวกเขาก็สามารถคว้าดับเบิ้ลแชมป์บอลถ้วยในประเทศ ด้วยการเอาชนะ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ 2-1 ในนัดชิง ลีก คัพ ตอนกลางเดือนเมษายน ก่อนจะมาหักอกคู่แข่งเจ้าเดิมซ้ำสองด้วยสกอร์เดียวกันในนัดรีเพลย์จนคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ เป็นการปิดท้ายฤดูกาล
1994 – โทรฟี่สุดท้ายในฐานะกุนซือทีมปืนใหญ่ของ เกรแฮม คือการพาทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ จากการสยบ ปาร์ม่า 1-0 ด้วยประตูชัยของ อลัน สมิธ ในนัดชิงที่ พาร์เค่น สเตเดี้ยม ประเทศเดนมาร์ก
1995 – ในช่วงต้นปีนั้นจู่ๆ เกรแฮม ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังถูกสืบทราบว่ามีส่วนพัวพันกับเงินทุจริตใต้โต๊ะที่ได้รับจาก รูเน่ เฮาเก้ เอเย่นต์นักเตะชาวนอร์เวย์ และก็เป็น บรูซ ริอ็อค ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากเขา
1996 – หลังปล่อยให้ ริอ็อค ทำหน้าที่ได้ปีเศษๆ อาร์เซน่อล ก็จัดการเปิดตัว อาร์แซน เวนเกอร์ ผจก.ทีมคนใหม่ในเดือนตุลาคม ผู้ที่นำพาแผนเกมรุกรูปแบบใหม่และยังเข้ามาช่วยปรับปรุงเรื่องการควบคุมน้ำหนักและโปรแกรมฟิตเนส พร้อมๆกับการทยอยเซ็นสัญญานักเตะบ้านเดียวกันที่เข้ามามีบทบาทสำคัญภายในทีมทั้ง ปาทริก วิเอร่า, นิโกล่าส์ อเนลก้า, เอ็มมานูเอล เปอตีต์, เธียร์รี่ อองรี และ โรแบร์ ปิแรส
1998 – ภายในซีซั่นแรกของการคุมทีมอย่างเต็มตัวของ เวนเกอร์ เขาก็ช่วยให้ อาร์เซน่อล คว้าดับเบิ้ลแชมป์มาครองหลังสามารถชูถ้วย พรีเมียร์ลีก ได้ในขณะที่ยังเหลือการแข่งขันอีก 2 นัด ก่อนที่พวกเขาจะเอาชนะ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด 2-0 ในนัดชิง เอฟเอ คัพ ที่ เวมบลีย์ ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

เดอะ กันเนอร์ส

2000 – เดอะ กันเนอร์ส มีโอกาสผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ ที่จะลงเตะกันใน พาร์เค่น สเตเดี้ยม ที่พวกเขาเคยคว้าถ้วย คัพ วินเนอร์ส คัพ มาก่อน แต่คราวนี้พวกเขากลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การดวลจุดโทษตัดสินให้กับ กาลาตาซาราย หลังทำอะไรกันไม่ได้ตลอด 120 นาที โดยหลังเกมยังมีเหตุความวุ่นวายจากแฟนบอลของทั้งสองทีมนอกสนามจนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน
2002 – เวนเกอร์ พาทีมคว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก ได้อีกครั้งและกลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 12 ของสโมสร โดยทำคะแนนทิ้งห่าง ลิเวอร์พูล ถึง 7 แต้ม นอกจากนี้พวกเขายังคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยที่ 8 ได้จากการลงทำศึก ลอนดอน ดาร์บี้ กับ เชลซี ในนัดชิงชนะเลิศที่ มิลเลนเนี่ยม สเตเดี้ยม ก่อนจะเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2-0
2003 – ทีมเดินทางกลับเข้าสู่สนาม มิลเลนเนี่ยม สเตเดี้ยม เป็นปีที่สองติดต่อกัน และเป็นฝ่ายได้ชูถ้วย เอฟเอ คัพ เป็นสมัยที่ 9 หลังเฉือนเอาชนะ เซาแธมป์ตัน 1-0 ด้วยประตูชัยจาก โรแบร์ ปิแรส
2004 – ขุนพลนักเตะของ เวนเกอร์ ชุดที่เป็นตำนานเล่าขานกันจนถึงทุกวันนี้ ช่วยให้ อาร์เซน่อล คว้าแชมป์ลีกได้แบบสุดอลังการ จากการที่พวกเขาสร้างสถิติไร้พ่ายตลอดทั้งฤดูกาล 2003-04 ก่อนจะโกยแต้มทิ้งห่าง เชลซี ไปไกลถึง 11 คะแนน จนทำให้ พรีเมียร์ลีก ตัดสินใจทำถ้วยรางวัลพิเศษที่เป็นสีทองเพื่อมอบให้กับทีมแชมเปี้ยน
2005 – กุนซือชาวฝรั่งเศส ยังพาทีมกอบโกยความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง หลังนำลูกทีมลงฟาดแข้งกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ที่ คาร์ดิฟฟ์ โดยหลังจากที่ไม่มีสกอร์เกิดขึ้นตลอด 120 นาที นักเตะทีมปืนใหญ่ก็เป็นฝ่ายแม่นเป้ากว่าเมื่อยิงจุดโทษเข้าครบทั้ง 5 คน ในขณะที่ พอล สโคลส์ เป็นนักเตะปีศาจแดงเพียงคนเดียวที่ยิงไปติดเซฟของ เยนส์ เลห์มันน์
2006 – เดอะ กันเนอร์ส มีโอกาสผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร โดยต้องเผชิญหน้ากับ บาร์เซโลน่า ที่นำทัพโดย การ์เลส ปูโยล, เดโก้, โรนัลดินโญ่ และ ซามูเอล เอโต้ แม้ เลห์มันน์ จะพลาดท่าออกไปรวบ เอโต้ บริเวณนอกกรอบเขตโทษจนโดนใบแดงไล่ออกจากสนามตั้งแต่นาทีที่ 18 แต่กลับกลายเป็นทีมของ เวนเกอร์ ที่เป็นฝ่ายออกนำไปก่อนในอีกราว 20 นาทีต่อมา อย่างไรก็ตาม บาร์ซ่า ก็มายิงแซงได้ 2 ประตูรวดภายในช่วง 15 นาทีสุดท้ายจนทำให้กองเชียร์ทีมปืนใหญ่ที่ตามไปให้กำลังใจถึง สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ต้องผิดหวังกันไปตามๆกัน หลังจากนั้นในช่วงหน้าร้อนพวกเขาก็อำลาถิ่นฐานจาก ไฮบิวรี่ ที่ยืนหยัดใช้งานกันมายาวนาน 93 ปีเพื่อย้ายเข้าสู่ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม สนามเหย้าในปัจจุบัน
2007 – เวนเกอร์ พาทีมกลับเข้าสู่ มิลเลนเนี่ยม สเตเดี้ยม อีกครั้งในนัดชิงชนะเลิศ ลีก คัพ แต่ เชลซี กลับทำได้ดีกว่าและเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 2-1
2011 – ทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ลีก คัพ ได้อีกครั้ง โดยคราวนี้พวกเขาได้กลับมาลงเตะนัดชิงดำกันใน เวมบลีย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่ก็ดันพลาดท่าพ่ายให้กับ เบอร์มิ่งแฮม ซิตี้ ไปแบบพลิกล็อค 2-1 จากประตูชัยแบบส้มหล่นของ โอบาเฟมี่ มาร์ตินส์ ศูนย์หน้าตัวสำรองในนาทีที่ 89
2014 – หลังห่างหายจากการครอบครองโทรฟี่รายการใหญ่มานานเกือบ 10 ปี ในที่สุด เวนเกอร์ ก็สามารถคืนความสุขให้กับแฟนๆได้สำเร็จ หลังเผชิญหน้ากับ ฮัลล์ ซิตี้ ที่ เวมบลีย์ ในเกมนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ที่แม้พวกเขาจะตกเป็นฝ่ายตามหลังถึง 2 ประตูตั้งแต่ในช่วง 10 นาทีแรก แต่ก็มาตามตีเสมอได้สำเร็จก่อนจะได้ประตูชัยในนาทีที่ 109 ของช่วงต่อเวลาพิเศษ และกลายเป็นแชมป์สมัยที่ 11 ของสโมสรในรายการนี้
2015 – อาร์เซน่อล สามารถทำสถิติคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้มากที่สุดแซงหน้า แมนฯ ยูไนเต็ด หลังเดินหน้าถล่ม แอสตัน วิลล่า ยับเยิน 4-0 ในนัดชิงดำที่ เวมบลีย์ และมันยังเป็นแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยที่ 6 ภายใต้การคุมทีมของ เวนเกอร์ ที่กลายเป็นสถิติสูงสุดเทียบเท่ากับที่ จอร์จ แรมเซย์ อดีตยอดกุนซือของ แอสตัน วิลล่า เคยทำไว้
2017 – ผลงานชิ้นสุดท้ายของ เวนเกอร์ กับ อาร์เซน่อล คือการคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยที่ 13 ในปีนั้นหลังเฉือนเอาชนะ เชลซี ได้แบบสุดมันส์ 2-1 ซึ่งมากที่สุดจากบรรดาทุกทีมในประเทศ และยังถือเป็นถ้วยรางวัลเก่าแก่ใบที่ 7 จากฝีมือของ เวนเกอร์ จนทำให้เขากลายเป็นกุนซือคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้ได้มากที่สุด
2018 – หลังใช้ชีวิตคุมทีมอยู่นาน 22 ปี จนกระทั่งสิ้นสุดฤดูกาล 2017-18 ด้วยมือเปล่า เวนเกอร์ ก็ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งโดยฝากผลงานทั้งหมดเป็นโทรฟี่รวมกัน 17 รายการ ก่อนที่สโมสรจะตัดสินใจดึงตัว อูไน เอเมรี่ เข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

บรรดากองเชียร์ของทีมมักจะขนานนามตัวเองไว้ว่า กูนเนอร์ส (Gooners) โดยมีที่มาจาก เดอะ กันเนอร์ส ชื่อเล่นของทีม ซึ่งแผ่ขยายอยู่ในวงกว้างและคอยตามสนับสนุนทีมอย่างเต็มที่ สังเกตเห็นได้จากตั๋วเข้าชมเกมในบ้านที่มักจะถูกขายจนหมดเกลี้ยงเป็นปกติ ภายในฤดูกาล 2007-08 พวกเขาเป็นทีมที่มียอดเฉลี่ยผู้ชมในสนามมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของบรรดาสโมสรฟุตบอลใน อังกฤษ (60,070 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 99.5% ของความจุในสนาม) และในปี 2015 พวกเขาก็กลายเป็นทีมที่มียอดคนดูเฉลี่ยมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ตลอดกาลของประเทศ อาร์เซน่อล ยังเป็นทีมที่ยอดเฉลี่ยแฟนบอลในสนามมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของสโมสรยุโรป โดยเป็นรองเพียงแค่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, บาร์เซโลน่า, แมนฯ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาเยิร์น มิวนิค และ ชาลเก้ 04 และจากทำเลที่ตั้งของสโมสรที่เป็นจุดศูนย์รวมของชนชั้นทุกระดับ จึงทำให้พวกเขามีกลุ่มผู้สนับสนุนที่หลากหลายในสังคม

นอกเหนือจากสาวกที่อาศัยอยู่ภายใน กรุงลอนดอน พวกเขายังมีแฟนพันธุ์แท้ที่กระจายอยู่ในส่วนอื่นๆของประเทศรวมถึงตามพื้นที่ต่างๆทั่วทุกมุมโลก ในปี 2007 มีรายงานว่า กลุ่มผู้สนับสนุนที่เป็นพันธมิตรกับสโมสรปักหลักอยู่ใน อังกฤษ 24 แห่ง, ไอร์แลนด์ 37 แห่ง และรวมๆกันในต่างประเทศอีก 49 แห่ง ในปี 2011 จากการสำรวจของ SPORT+MARKT AG บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจกีฬาสัญชาติเยอรมันได้ทำการประเมินจำนวนแฟนบอล อาร์เซน่อล ทั่วโลกไว้ที่ประมาณ 113 ล้านคน ในขณะที่กิจกรรมต่างๆในโลกโซเชี่ยลของทีมก็สูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของบรรดาสโมสรฟุตบอลทั่วโลกภายในฤดูกาล 2014-15 ศัตรูตัวฉกาจที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนานของ อาร์เซน่อล ก็คงหนีไม่พ้น ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ทีมบ้านใกล้เรือนเคียง โดยการเผชิญหน้าของทั้งคู่จะถูกเรียกว่า นอร์ธ ลอนดอน ดาร์บี้ นอกจากนี้ยังมีทีมคู่แข่งสำคัญอื่นๆที่อยู่ใน ลอนดอน อีกทั้ง เชลซี, ฟูแล่ม และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด แมนฯ ยูไนเต็ด เริ่มยกระดับขึ้นมาเป็นคู่อริของพวกเขาจากผลงานในสนามตอนช่วงยุคปลายปี 80 ก่อนจะมาขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดอีกครั้งในช่วงที่เป็นยุคของ พรีเมียร์ลีก โดยจากผลสำรวจทางออนไลน์ของแฟนบอลในปี 2003 ระบุว่า ปีศาจแดง คือทีมคู่แข่งสำคัญของพวกเขาที่อยู่รองจาก สเปอร์ส และ เชลซี